'นพ.ธีระ' อัดรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกที่คัน

'หมอธีระ' ชี้สถานการณ์โควิดไทยส่วนทางโลก อัดการแก้ปัญหาเกาไม่ถูกที่คัน นโยบายควบคุมป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จี้เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจระวังอาการจะหนักกว่าเก่า

23 ก.พ.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าทะลุ 427 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,573,163 คน ตายเพิ่ม 7,761 คน รวมแล้วติดไปรวม 427,885,338 คน เสียชีวิตรวม 5,923,006 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 96.95 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 50.27 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 47.05 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต Omicron
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดเมื่อวานนี้ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อใหม่ของทั้งโลกลดลง 21% และเสียชีวิตลดลง 8% (ถ้าเปรียบเทียบกับไทย หากดูข้อมูลจาก Worldometer มาประกอบ จะพบว่าไทยเรามีสถานการณ์สวนกระแสโลก เพราะติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงถึง 22% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22%) โดยนำเสนอข้อมูลจาก GISAID ที่ชี้ให้เห็นว่า Omicron นั้นมีสัดส่วนการระบาดทั้งโลกสูงถึง 99.1% แล้ว ส่วนในเดลตาเหลือเพียง 0.8% และอัลฟาน้อยกว่า 0.1%

ทั้งนี้ Omicron มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ ได้แก่ BA.1 BA.2 และ BA.3 มีข้อมูลติดตามการระบาดพบว่า BA.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 12.23% ในช่วงปลายมกราคม มาเป็น 35.8% ในปัจจุบัน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เหนืออื่นใดการป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อได้แน่นอน

...สถานการณ์ไทยเรา
การระบาดยังคงเป็นไปอย่างรุนแรง กระจายไปทั่ว กลไกนโยบายด้านสาธารณสุขนั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์จริงได้ (Responsiveness) ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวในแต่ละวันที่เห็นคนติดเชื้อและไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ ทั้งในกลุ่มคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย คนที่มีที่พักอาศัยคับแคบแออัด รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กติดเชื้อมีอาการป่วย

ปัญหาการรับรู้สถานการณ์จริง และการเกาไม่ถูกที่คัน สะท้อนให้เห็นภาพปัจจุบัน ที่ฝ่ายนโยบายยืนยันว่าเตียงเพียงพอ ไม่มีปัญหาคนต้องนอนข้างถนน ตรวจสอบกับเหล่าข้าราชการแล้ว แต่สวนกระแสข่าวที่ประชาชนเห็น
สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (และเหลือง) จำนวนมากที่ต้องการการดูแล ให้คำปรึกษา จัดหาที่พักกักตัวที่เหมาะสมให้เพียงพอ และให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ควรตระหนักว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำ home isolation ได้ แตกต่างจากในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีความรู้และทักษะเพียงพอในการจัดการตนเองและครอบครัวยามที่เกิดการติดเชื้อหรือป่วย

เหนืออื่นใด ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นอยู่นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่านโยบายการควบคุมป้องกันโรคยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากมัวแต่เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ การระบาดในประเทศจะหนักหนากว่าเดิมและส่งผลกระทบย้อนกลับมาทั้งด้านปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมระยะยาว ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID จะเป็นภาระใหญ่สำหรับบุคคล ครอบครัว และประเทศ จึงควรดำเนินนโยบายโดยดำรงตนบนพื้นฐานของความไม่ประมาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า