'ตำรวจไซเบอร์' เตือนภัย ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าวงการนายแบบ-นางแบบ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

2มิ.ย.2566 - พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอฝากเตือนภัยมิจฉาชีพสร้างเพจเฟชบุ๊กปลอมหลอกลวงผู้ปกครองให้ลงทะเบียนสมัครเข้าประกวดคัดเลือกนายแบบนางแบบเด็ก หรือถ่ายแบบแฟชั่นเสื้อผ้าเด็ก สุดท้ายถูกหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้าอ้างเพื่อเพิ่มคะแนนเข้าสู่รอบต่อไป ดังนี้

ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า มีผู้เสียหายหลายรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเข้าสู่วงการเป็นนายแบบหรือนางแบบเด็ก ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงโดยการสร้างเพจ facebook ปลอมขึ้นมา เช่น เพจ Child model kids, KID Model 2023, Summer Model, Fashion Kid เป็นต้น เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้สมัครลงทะเบียนเข้าร่วมการคัดเลือกนายแบบ นางแบบเด็ก อ้างว่าเมื่อผ่านการคัดเลือกจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เดินแบบร่วมกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของห้างสรรพสินค้า ได้รับเงินเดือน ได้รับค่าคอมมิชชันต่างๆ เป็นต้น หรือถ่ายแบบแฟชั่นเสื้อผ้าเด็ก มีรายได้ 450 – 750 บาทต่องาน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัคร

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดต่อไปยังไลน์ของมิจฉาชีพ มิจฉาชีพจะให้ส่งรูปภาพ และคลิปวิดีโอของบุตรหลาน รวมถึงการเข้ากลุ่ม Line Open Chat ทำกิจกรรมสะสมคะแนนเพื่อเข้าสู่รอบคัดเลือก ภายในกลุ่มดังกล่าวจะมีแอดมิน ติวเตอร์ และหน้าม้าผู้ปกครองต่างๆ โดยกิจกรรมที่ให้ผู้เสียหายทำ คือ การจำลองสั่งซื้อสินค้าเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ Central หรือให้เข้าไปกดถูกใจสินค้าผ่านลิงก์ที่มิจฉาชีพส่งมาให้ เมื่อทำเสร็จสิ้นจะได้รับคะแนน และค่าคอมมิชชันประมาณ 10-20% ของราคาสินค้า แต่ผู้เสียหายต้องสำรองโอนเงินค่าสินค้านั้นๆ เสียก่อน มีการอ้างว่าเพื่ออนาคตของลูก ต่อมาสินค้าก็จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ นอกจากนี้แล้วมิจฉาชีพยังได้ใช้วิธีการปลอมบัญชีผู้ใช้เป็นหน้าม้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพตามกฎหมายต่อไป

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ จะมีแผนประทุษกรรมในขั้นตอนสุดท้ายเหมือนกันคือ การโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ ซึ่งมักอ้างว่าให้ทำการสำรองเงินก่อน เมื่อทำกิจกรรมเสร็จจะได้รับเงินทั้งหมด จะแตกต่างกันที่เนื้อเรื่องในการนำมาหลอกลวงผู้เสียหาย เช่น การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า รีวิวที่พัก พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.ระวังการเข้าสู่เพจ facebook ปลอม ควรตรวจสอบในเบื้องต้นว่ามีชื่อเพจในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ตรวจสอบส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ มีการแสดงความคิดเห็นในทางไม่ดีหรือไม่ อย่างไร รวมถึงความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
2.ระวังเพจ facebook ที่ไม่ใช่เพจทางการ เพจที่มีผู้ติดตามจำนวนน้อย หรือเพจที่สร้างขึ้นได้ไม่นาน
3.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
4.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
5.หากต้องการจะทำงานเพื่อหารายได้ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
6.หากมีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
7.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
​8.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือได้รับผลตอบแทนในจำนวนเล็กน้อยก่อนจริง
​9.ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.ไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพฉวยวันฮาโลวีนอ้างแจกของฟรี หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้า และบริการออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ตร.ไซเบอร์ เปิด 7 รูปแบบเพจเฟซบุ๊กปลอม ที่มิจฉาชีพใช้หลอก ปชช.

จากการตรวจสอบจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าสามารถแบ่งรูปแบบของเพจ เฟซบุ๊กปลอมที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงประชาชนได้ จำนวน 7 รูปแบบ

ตำรวจเตือน 3 ภัยออนไลน์ ระวัง ข้าราชการเกษียณ สูญเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่าเกษียณอายุราชการนั้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน

ตำรวจไซเบอร์ชี้ชื่อ 6 หน่วยงานนี้โผล่มือถือให้ระวัง!

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยแก๊งควบคุมมือถือระบาดหนัก เตือนระวังอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ 6 หน่วยงานรัฐและเอกชน พร้อมแนะ 10 แนวทางป้องกัน