ชาวแม่สะเรียง ยกระดับค้าน 'เหมือง' พบพิรุธอ้างป่าเสื่อมโทรม ที่แท้ยังสมบูรณ์ด้วยไม้เต็ง-รัง

อ้างป่าเสื่อมโทรมที่แท้ยังสมบูรณ์เต็มไปด้วยไม้เต็ง-รัง สำรวจพื้นที่สร้างเหมืองพบพิรุธ ชาวแม่สะเรียงเตรียมยกระดับค้านเหมืองหากยังเดินหน้า

31 ก.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่บริษัทเอกชนกำลังขอประทานบัตรเหมือง แต่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าแหล่งต้นน้ำและอยู่ติดกับชุมชนและตัวอำเภอแม่สะเรียง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง โดยพื้นที่บริเวณนี้เคยมีการทำเหมืองมาเมื่อราว 20 ปีก่อน ต่อมาชาวบ้านได้ประท้วงจนการทำเหมืองยุติลง โดยผืนป่าบริเวณนี้เป็นป่าสงวนอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ในปัจจุบันผืนป่าได้ฟื้นตัวโดยมีต้นเต็งและรังขึ้นอยู่รกครึ้มและกลายเป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาลของชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญโดยชาวบ้านได้ต่อท่อพีวีซีนำน้ำไปใช้ในหมู่บ้าน ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการคือระบุในเอกสารว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมแต่จากการสำเรวจข้อเท็จจริงพบว่าผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ แม้ขนาดของต้นไม้ไม่ใหญ่นักแต่ก็มีลำต้นขนาดกลางที่สามารถซับน้ำได้เป็นอย่างดี

นายอดุลย์ พะยอมดง ชาวบ้านโป่งดอยช้างซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ที่กำลังจะได้รับประทานเหมือง กล่าวว่า พื้นที่ป่าบริเวณนี้ชาวบ้านแม่สะเรียง ได้เคลื่อนไหวและจัดประชุมคัดค้าน นอกจากนี้ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทราบว่าหลักฐานในการคัดค้านประทานบัตรได้ส่งไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งหากจะลงมาทำประชาคมเมื่อไหร่ ชาวบ้านก็ไม่เอาอยู่ดี ชาวบ้านได้สอบถามว่าเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่มีนี้จะสามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้หรือไม่ เพื่อประสานกับผู้ประกอบการว่าควรยุติเรื่องนี้เลยได้หรือไม่ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นป่าต้นน้ำลำธารของชุมชน เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ 300 กว่าหลังคาเรือน รวมถึงกรมทหารพรานที่ 36 ก็นำน้ำไปใช้ในศูนย์การเรียนรู้

นายอดุลย์กล่าวว่า ประชาชนชาวแม่สะเรียงห่วงเรื่องผลกระทบ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกทำลาย หากมีการระเบิดหินก็จะมีแรงสั่นสะเทือน มลพิษทางอากาศ จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา โรงเรียนธารทิพย์ วัดถ้ำ และที่ว่าการอำเภอ

“จากตรงนี้ไปที่หมู่บ้านเป็นห่างกันเพียง 700 เมตร ถึงโรงเรียน1 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง ก็ไม่เกิน 2 กิโลเมตรเท่านั้น เราอยากให้ผู้ประกอบการ ยกเลิกโครงการ เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในการยกเลิก เป็นอำนาจของท่านผู้ว่าฯ หรืออุตสาหกรรมจังหวัด อยากให้ประสานกันให้ยกเลิกไป หากไม่ยกเลิกชาวบ้านก็จำเป็นต้องยกระดับไปอีก เพราะว่าได้คุยได้ประชุมกันแล้ว พื้นที่นี้เราจะไม่อนุญาตให้เลย หากเข้ามาจะมีการชุมนุมเป็นเรื่องใหญ่” นายอดุลย์ กล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเหมืองเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นป่าที่เชื่อมต่อหลายชุมชน และติดตัวเมืองแม่สะเรียง ชาวบ้านกังวลผลกระทบจากการทำเหมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีกแล้ว พื้นที่นี้ปัจจุบันเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ และที่สำคัญคือผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และตรงนี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงสู่ลำธาร และแม่น้ำยวม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช.-หน่วยงานภาคีร่วมสนับสนุนป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี สร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการป่า-สร้างรายได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพชรบุรี / พอช.และหน่วยงานภาคี เช่น ‘วช.-วปอ.-สสส.-กรมป่าไม้ และจ.เพชรบุรี’ ร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชน ‘บ้านถ้ำเสือ’ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

คนราชบุรีร่วมดูแลป่าชุมชน-สร้างเครือข่าย 119 ป่า ด้าน พอช.-หน่วยงานภาคีหนุนชุมชนทั่วประเทศสร้าง “ป่าที่กินได้”

ราชบุรี / จัดประชุมผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชนในจังหวัดราชบุรี 7 อำเภอ เพื่อสร้างความเข้าใจ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’ นำมาสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการดูแลบริหารจัดการป่า

อบต.แม่สามแลบ เร่งจัดระเบียบนักท่องเที่ยวขึ้นดอยชมทะเลหมอก 'กลอเซโล'

อบต.จับมือชุมชนสร้างกติกาเที่ยวทะเลหมอกกลอเซโล ห้ามรถเก๋ง-รถไม่มีโฟร์วิวขึ้นดอยหวั่นไม่ปลอดภัย-รบกวนหมู่บ้าน ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวนำขยะออกมาด้วยและห้ามขึ้นหลัง 4 ทุ่ม

ชาวบ้าน 'เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ตาก' ฟ้องศาลปกครองขอให้ยุติโครงการผันน้ำยวม

ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน และประชาชนที่มีภูมิลำเนาและที่ทำกินใน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน รวม 66 คน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้พิพากษาว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ชาวแม่ลาน้อย รวมพลังค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์

ชาวแม่ลาน้อยรวมพลังค้านเหมืองฟลูออไรต์ ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่-สส.ร่วมต้าน เผยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ-ป่าสมบูรณ์แต่ถูกอ้างเสื่อมโทรม ชุมชนประกาศสู้ตายปกป้องแผ่นดินเกิด

'ชาวแม่สะเรียง' ร่วมต้านเหมืองคึกคัก จี้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกจากแหล่งหินแร่

ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอำเภอใกล้เคียง กว่า 600-700 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนแม่สะเรียงคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักโดยมีการแจกเอกสารข้อมูลผลกระทบจากการสร้างเหมือง