ชัยชนะปิดเหมืองหินดงมะไฟ สู่หมุดหมายคืนชีวิตป่า ทวงความยุติธรรม 4 ศพ

ปิดเหมืองหินดงมะไฟ ชัยชนะที่สู้ด้วยสองมือสองตีนของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได พร้อมเดินหน้าถอนโคนยกเลิกประกาศเขตแหล่งแร่ สกัดนายทุนหวนคืนภูผาฮวก ทวงคืนความยุติธรรม 4 ศพ

14 เม.ย.2567 – ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี  ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กลุ่มประชาชนในนาม กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดงาน “ปิดเหมืองหินแล้วจ้า ฮอดเวลาม่วนชื่น ก้าวต่อไป…ดงมะไฟแห่งชัยชนะ”  ซึ่งวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ถือป็นวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการโรงโม่หมดอายุลง หลังก่อนหน้าประทานบัตรเหมืองหินหมดอายุลงเมื่อปี พ.ศ.2563 เท่ากับว่าเป็นการสิ้นสุดสัมปทานเหมืองหินทุกอย่างอย่างเป็นทางการ  

โดยกิจกรรมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า มีการแห่กลองยาวจากหมู่บ้านผาฮวกฯ ไปยังภูผาฮวก จากนั้นเป็นการจัดพิธีปิดเหมืองหินและพิธีกรรมเรียกขวัญลูกหินกลับสู่อ้อมอกพ่อแม่ผาฮวก หาบหินคืนภูเขา  พร้อมเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ภูผาฮวก เยี่ยมชมรูปภาพคนปิดเหมือง ประทับรอยมือรอยเท้ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ตามด้วยการขึ้นป้ายผ้าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เหมืองจบแล้วที่รุ่นเรา”  ปักป้าย”ฟื้นฟูภูผาป่าไม้” เพื่อประกาศความสำเร็จในการทวงคืนเหมืองหิน ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่สภาพเดิม  การแสดงดนตรีจากวงซอฟบ้านโคก และวงนักอนุรักษ์น้อย ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่และเครือข่ายร่วมในงานอย่างคับคั่ง บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น

โดยหนูซาย พลซา ระบุถึงความมเป็นมาว่า  ผาฮวกแต่ก่อนมีป่าไผ่รวกผืนใหญ่กว่าที่อื่น จึงตั้งชื่อว่าผาฮวก เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทุกชนิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะมีนายทุนมาบุกรุก สมัยนั้นยังไม่มี อบต. โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ อนุมัติให้นายทุนเข้ามาระเบิดและทำสัมปทานหิน เสียใจที่เวลานั้นชาวบ้านยังไม่รู้เรื่อง ว่าเขาเข้ามาทำได้อย่างไร สิ่งแวดล้อมก็เสียหายไป นก หนู สัตว์ป่าที่ทนเสียงระเบิดดังไม่ได้ก็หนีหายไปหมด จึงหวังว่าทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าที่หายไปจะกลับคืนมาและพี่น้องทุกคนต้องช่วยกันรักษาต่อไป

ขณะที่ สมควร เรียงโหน่ง ระบุว่า ในอดีตการหาอยู่หากินของชาวบ้าน ย้อนกลับไปก่อนโรงโม่หินจะเข้ามา  ความอุดมสมบูรณ์หลากหลายมาก เช่น  อยากกินหน่อไม้ก็ก่อไฟตั้งหม้อแล้วขึ้นไปหักหน่อไม้บนภูเขาที่ตั้งโรงโม่  การที่ตนเองลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องภูผาฮวกไม่ให้ถูกทำลายก็มาตามรอยพ่อ เนื่องจากพ่อคัดค้านมาก่อน และเห็นความสำคัญหลายประการ พ่อบอกเคยบอกกับตนเองว่าไม่ว่าพื้นที่ใดถ้ามีโรงโม่ ไม่มีทางมีความสุข มีแต่จะได้รับความเสียหายไปเรื่อยๆ และไม่ใช่ช่วงเวลาแค่สั้นๆ แต่เป็นเวลาหลายปีที่ต้องมาต่อสู้ ช่วงนั้นที่ตนเองออกมาร่วมกับพ่ออายุ 35 ปี ก็ยังไม่ถึงกับเป็นคนที่อยู่แดนหน้า เพียงแต่ร่วมสังเกตการณ์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อไปให้ถึงตามที่พ่อบอก

“พ่อเคยบอกสิ่งหนึ่งว่าที่ทำกินตรงนี้ ที่ติดภูเขาลูกนี้ อย่าขายให้เก็บรักษาไว้ เพราะว่ามันไม่มีอีกแล้ว มันมีเท่านี้ การที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ผมมีความคิดว่าภูเขาตรงนี้ไม่เหมาะกับการทำเป็นโรงโม่แม้แต่นิดเดียว เพราะพื้นที่ทำกินของชาวบ้านติดภูเขาทุกด้าน จึงอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ภูผาฮวก ในจำนวนภูผาทั้งหมด 7 ลูกในพื้นที่นี้อยากให้ถูกนำมาผนวกเป็นป่าชุมชนทั้งหมด เพื่อให้ลูกหลานเข้าไป เก็บหาของป่าได้ง่ายขึ้น และใช้ประโยชน์อย่างยื่นยืนเพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป” สมควร กล่าว

ขณะที่เปี่ยม สุวรรณสนธิ์ ระบุ ว่า นโยบายของรัฐทุกสิ่งทุกอย่างก่อความเดือดร้อนและความอัปยศอดสูให้ชาวบ้านตลาดมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนห้วยหลวง หรือเหมืองหินแห่งนี้ ไม่ว่าชาวบ้านจะไม่เต็มใจแต่ก็ถูกยัดเยียดโครงการมาให้ตลอด เราต่อสู้มาทุกศาลเราชนะทั้งหมด จนเราปิดเหมืองได้ในวันที่ 13 ส.ค. 2563  และเชื่อว่าสู้อีก 10 ศาลเราก็ชนะ

ด้านหลง ชินแสง  ระบุถึงการต่อสู้ ว่า พวกเรานอนปิดเหมืองหินและโรงโม่  ขบวนการต่อสู้ของคนบ้านเรามีมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี พ่อบ้านของตนเองออกมาต่อสู้ก่อนเจอทั้งการถูกข่มขู่ ถูกจับ และมีคนเสียชีวิต ต่อมาพ่อบ้านล้มป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ตนเองจึงก้าวออกมาในวงการต่อสู้แทนเขา เพราะว่าหัวหน้าครอบครัวคือตนเองแล้ว ถึงจะเป็นผู้หญิงแต่ใจยังสู้ พวกเราได้เดินออกไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายหน่วยงาน แต่เขาบอกเราว่าไม่มีอำนาจสั่งให้เหมืองหินหยุดได้ จนพวกเราผิดหวังกลับมา ไม่ได้กลับเข้าบ้านแต่ไปนอนกลางถนนทางเข้าเหมือง เพราะเราอยากให้เหมืองหินปิด ตอนแรกเราจะนอนกัน 3 คืน แต่กลายเป็น 3 เดือน และ 3 ปี

“ใบอนุญาตเหมืองหินหมดลงไป เหมืองหินปิดลง แต่เราก็ยังมีต่อคือเราจะฟื้นฟูสิ่งที่มันถูกทำลายไปให้กลับมาเหมือนเดิม ต่อไปนี้เราจะฟื้นฟูและพยายามทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะภูผาป่าไม้ของเรามีสิ่งสวยงามซ่อนอยู่ในนั้น มีทั้งถ้ำหลายแห่ง ภาพเขียนสี และวัตถุโบราณ อายุหลายพันปี อยากให้คนภายนอกได้มาเห็นและรับรู้ ว่าทำไมเราต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้”หลง ระบุ

ด้านลำดวน วงศ์คำจันทร์ กล่าวว่า เราต่อสู้เรื่องเหมืองมาเป็นเวลายาวนานที่สุด 30 กว่าปี แต่เราก็ไม่เคยชนะ ไปเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐเขาก็ไม่เคยสนใจ จนเราเข้ามาปิดเหมืองด้วยสองมือสองตีนของพ่อแม่พี่น้องทุกคนทั้ง 6 หมู่บ้าน เรามาอยู่ที่นี่วันแรก เราเจอปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดคือพายุฝน แต่เราไม่เคยหวั่นไหวไม่เคยคิดหนีและทิ้งเพื่อนไว้ที่นี่ เราอยู่ที่นี่กันจนสว่าง วันแรกยอมรับว่ามีความกังวลในใจว่าเราจะเดินทางไปถึงไหน จะอยู่ต่อถึงวันไหน และจะไปต่อได้อย่างไร

“ความฝันคือเราอยากปิดเหมืองให้สำเร็จแล้วเราจะไปทางไหนต่อ วันนั้นมืดมนจริงๆ มองไม่เห็นทาง พออยู่ต่อมา 13 วันมีคนเข้ามาติดต่อว่าจะเอารถโม่หินออก รู้สึกดีใจ แต่ยังไม่คลายกังวลเพราะกลัวว่าเขาจะมาโกหกหรือใช้แผนการอะไรกับพวกเราเพื่อให้ออกจากพื้นที่หรือไม่ อีก 2-3 วันต่อมาเขาก็นำรถโม่หินออก เป็นชัยชนะของเราครั้งแรก เสียงพ่อแม่พี่น้องเราตะโกนพร้อมกันว่า “โรงโม่ออกไปๆ” นี่เป็นความทรงจำที่ประทับใจตราตรึง และก้องอยู่ในสมอง ไม่เคยลืม เพราะพี่น้องเราร่วมมือร่วมใจกันทุกคน จนได้รับชัยชนะและเหมืองปิดลง” ลำดวน ระบุ

ขณะที่สอน คำแจ่ม  กล่าวว่า สามีของตนเองคือทองม้วน  คำแจ่ม เป็นหนึ่งในคนที่ต่อสู้มาเพื่อภูผาป่าไม้มาตั้งแต่รุ่นแรก เขาเป็นคนที่ไปชุมนุมเพื่อปกปักรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน เขาลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนของคนในต.ดงมะไฟ แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกฆ่าโดยไม่รู้สาเหตุ  เมื่อสามีเสียชีวิตและตนเองเสียเสาหลักในครอบครัวไปแล้ว ด้วยความทุกข์ ความจน ความวุ่นวายในหัวใจจึงนึกขึ้นได้ว่า จะมัวเสียใจอยู่ได้อย่างไร มองหาคนช่วยพวกเจ้าพวกนายก็ไม่มี จึงลุกขึ้นมาสู้และต้องตามหาความเป็นธรรมให้ได้ เ

“พราะว่าทุกวันนี้สังคมไทยมันไม่มีความยุติธรรม โดยเฉพาะชาว ต.ดงมะไฟ จะต้องอยู่ด้วยความมืดมน ไม่มีความกระจ่างแจ้ง เพราะว่าผู้ใหญ่บ้าน กำนันเขาไปทางอื่นหมดไม่ได้มาทางชาวบ้าน ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงตกลงกันว่าเราต้องปิดเหมืองด้วยสองมือสองตีนของเรา และลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูกหลาน เราได้พากันมานอนปิดเหมืองอยู่ที่นี่ ผ่านไปปีเดียวหน่อไม้ และเห็ดก็มีให้กิน นก หนู จักจั่นก็กลับมาส่งเสียงร้อง ดิฉันสาบานไว้ว่าถ้าหาความเป็นธรรมไม่ได้ ก็จะไม่เผาพ่อทองม้วน วันนี้อยากจะบอกพ่อทองม้วนว่าเราชนะแล้วนะพ่อ”สอน กล่าว

ด้านพรพรรณ อนุเวช  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เรื่องการ์ดปากแดง ว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีมานี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ตนเองจำไม่เคยลืมคือเหตุการณ์ที่ตนเองจะถูกอุ้ม ซึ่งตอนนั้นพวกนายทุนเข้ามาตั้งแคมป์และโรงโม่ในพื้นที่ และกล่าวหาว่าเราเข้าไปเผาแคมป์ของเขา ซึ่ง 1 ใน 12 รายชื่อที่เขาจะจับมีชื่อพี่สาวตนเองรวมอยู่ด้วย แล้วเขาก็มาจับกระชากลากถูตัวพี่สาวไป ตนเองรีบเข้าไปช่วยจึงถูกอุ้มตัวขึ้นรถไปด้วยกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่มาของคำว่าการ์ดปากแดง แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ได้เป็นการ์ดเต็มตัวก็คือเมื่อพวกเราได้มาร่วมกันปิดเหมือง พี่น้องเราได้มอบหมายหน้าที่ให้ตนเองเป็นการ์ดปากแดง ซึ่งตนเองก็รับหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจเพราะคับแค้นใจมานานแล้ว

“พอได้รับหน้าที่นี้สิ่งแรกที่ทำคือการเป็นเวรยามให้พี่น้องเรา อยู่ที่นี่และบริเวณแคมป์ คอยสอดส่องดูแลพี่น้องว่าจะมีคนนอกเข้ามารบกวนการทำกิจกรรมหรือไม่  ส่วนฉายาการ์ดปากแดงนั้นได้มาเพราะชอบทาลิปสติกสีแดง พี่น้องเราจึงมอบฉายานี้ให้  ทั้งนี้สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือเราได้ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ที่สุดโดยที่พี่น้องให้ความไว้วางใจเรามากที่สุด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ถึงแม้จะปิดเหมืองและได้รับชัยชนะแล้ว ดิฉันก็จะยังเป็นการ์ดปากแดงและรับใช้พี่น้องเราไปตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่”  พรพรรณ ระบุ

ขณะที่พนมวรรณ นามตาแสง จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  เล่าเรื่อง “ผาฮวกฯหมู่บ้านปิดเหมือง”  ว่าหมู่บ้านนี้ไม่ใช่แค่หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหิน ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่มันกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่หลังบ้านของอีกหลายๆ คน อาจจะเป็นหลังที่สอง หลังที่สาม รองลงมาจากครอบครัวหลักของเรา หมู่บ้านนี้ยังได้มีการตั้งโรงเรียนสังคมและการเมืองเหมืองแร่หนองบัวลำภู เป็นการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำให้เรามีการพัฒนาความคิดของเรามากขึ้น มีครูมาสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความปลอดภัย เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การฟื้นฟูภูผาป่าไม้ การรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ควบคู่กับการต่อสู้ในการเรียกร้องเพื่อปิดเหมืองหิน 

“ที่สำคัญการต่อสู้ของพวกเรามีการสูญเสียเพื่อนและบุคคลในครอบครัวถึง 4 ศพ ซึ่งเขาออกมายืนหยัดในการต่อสู้ การที่เราออกมาชุมนุมที่นี่เราเรียกร้องเสมอมาว่าให้มีการทวงคืนความยุติธรรมทุกคน โดยได้ยื่นหนังสือให้ สภ.สุวรณณคูหา รื้อฟื้นคดี 4 ศพขึ้นมาแต่ทางตำรวจบอกว่าไม่สามารถทำได้เพราะสิ้นสุดอายุความแล้ว เป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่ดงมะไฟและสังคมไทย  เราไม่เคยหาคนร้ายมาลงโทษได้เลย ทั้งที่หลักฐานและสำนวนคดีชัดอยู่แล้วว่าใครคือคนที่กระทำความผิด ดังนั้น เราจึงต้องพยายามเรียกร้องต่อไปเพื่อคืนความยุติธรรมให้ทั้ง 4 ศพให้ได้” พนมวรรณ ระบุ

พนมวรรณ  กล่าวต่อว่า การต่อสู้ของที่นี่ไม่ใช่แค่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งแต่มีถึง 4 รุ่น คือ รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก และรุ่นหลาน ที่เป็นนักอนุรักษ์น้อย การต่อสู้ของที่นี่เราไม่ได้ต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น เราต่อสู้ในกระบวนการของการเมือง มีการส่งตัวแทนของกลุ่มเข้าไปสู่การเมือง ให้เป็นตัวแทนใน อบต.ถึง 4 หมู่บ้าน โดยหาเสียงร่วมกัน มีวิสัยทัศน์คือให้ดงมะไฟเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมโบราณคดีเท่านั้น 

“เราฟื้นฟูภูผาป่าไม้โดยการเพาะปลูกต้นกล้า เก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ขึ้นไปปลูกบนภูผาฮวก เพื่อให้ระบบนิเวศเดิมกลับคืนมา โดยปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 1 หมื่นต้น เราได้ทำการฟื้นฟูภูผาป่าไม้  ปัจจุบันเราก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของเราเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครคือการเที่ยวแบบดาร์กทัวร์ เที่ยวชม เที่ยวฟังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่นี่ที่สามารถต่อสู้จนเอาชนะเหมืองหินได้ด้วยสองมือสองเท้าของเราเอง” พนมวรรณ ระบุ

พนมวรรณ  ระบุด้วยว่า  ระหว่างที่เราปักหลักชุมนุมกว่า 1,138 วัน คดีศาลปกครองมหากาพย์ 11 ปี ได้ถูกตัดสินมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตรในระหว่างที่เราได้ปิดเหมืองหินสำเร็จไปแล้ว มันคือการยืนยันสิทธิในการปกป้องทรัพยากรของกลุ่มอนุรักษ์ฯ อย่างไรก็ตามกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังถูกนายทุนฟ้องปิดปากให้รื้อแคมป์ออกไป ทั้งที่การปักหลักชุมนุมที่นี่เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่ได้ปิดทางเข้าออก แต่เราแค่ยืนยันสิทธิว่าสิ่งที่บริษัททำตลอดมาคือการทำเหมืองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนทุกคนสามารถเรียกร้องสิทธิของเราได้

“ชัยชนะของดงมะไฟไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งแต่เกิดจากคนทุกคนที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์ฯ ร่วมมือกัน และชัยชนะที่เกิดขึ้นจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ชัยชนะของเราต้องไปต่อ แม้ว่าการทำเหมืองหิน ประทานบัตร หรือการอนุญาตให้เข้าใช้ป่าสงวนฯ ได้หมดลงไปแล้ว แต่มันยังมีสิ่งหนึ่งที่ครอบพื้นที่นี้อยู่ก็คือเขตประกาศแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตอาจจะมีนายทุนหรือบริษัทอื่นมาขอทำเหมืองในภูผาฮวกฯ ก็ได้ ชัยชนะที่ต้องไปต่อคือเราต้องยกเลิกประกาศเขตแหล่งแร่เพื่อให้พื้นที่นี้กลับสู่ชุมชนเป็นป่าชุมชนอย่างแท้จริง ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรเป็นป่าส่วนรวม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตให้ได้” พนมวรรณ ระบุทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

MOU ฉบับที่ยังไม่ถูกฉีก!  ปิดเหมือง 1,095 วัน ไม่สลายกลุ่มรวมขั้วนายทุน

ชาวบ้านต้านเหมืองหินดงมะไฟ ฉลองครบ 3 ปีชัยชนะ ปิดเหมือง ยังปักหลัก MOU 3 ข้อต่อเนื่อง ผนึกกำลังกันเป็นปั้นข้าวเหนียว  ไม่สลายกลุ่ม ไม่รวมขั้วพวกนายทุน เดินหน้าปกป้องทรัพยากรแผ่นดินเกิด

‘ผบ.ตร.’ เตรียมมอบเงินบริจาคน้ำใจตำรวจกว่า 8 ล. เยียวยาผู้สูญเสีย

ผบ.ตร. เตรียมนำเงินบริจาค 5,336,316 บาทแล้ว และมีภาคประชาชนจะนำเงินมามอบให้อีก 2,500,000 บาท มอบให้ผู้สูญเสียเหตุกราดยิง จ.หนองบัวลำภู

ฟื้นชีวิตป่าตบหน้ารัฐ! ชาวบ้านดงมะไฟ ขยับต่อรื้อกม.สัมปทานเหมืองหิน ป้อนนายทุน

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได ร่วมมือฟื้นชีวิตป่าฮวกต่อเนื่องเข้าปีที่ 2 หลังปิดเหมืองหินสำเร็จ พร้อมทำงานต่อสานขบวนการภาคประชาชนร่วมขบวนประชาธิปไตย หวังเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองสู่การมีส่วนร่วม รื้อกฎหมายสัมปทานเหมืองหินทั่วประเทศ

สองมือชาวบ้านร่วมแรงใจ ฟื้นชีวิตป่าภูผาฮวก หลังปิดเหมืองหินโรงโม่สำเร็จ

ชาวบ้านหนองบัวลำภู ร่วมแรงใจปลูกกล้าไม้บนภูผฮวก หลังธรรมชาติถูกทำลายจากอุตสาหกรรมเหมืองหิน เดินหน้าฟื้นฟูธรรมชาติให้คืนกลับมา หวังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และอารยธรรมโบราณคดีในอนาคต