"หนูนา กัญจนา" มอบเงิน 49.25 ล้านบาท หนุน มช.สร้างศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า เผยห่วงกระตุ้นท่องเที่ยวทำร้ายลูกช้างวอนกรมปศุสัตว์แก้ปัญหา ระบุชอบทำแต่เรื่องใหญ่ๆ ห่วงวิกฤตควาญช้างต้องเร่งสร้างคุณภาพ
26 ก.พ.2568 - ที่ห้องประชุมศรีวิสารวาจา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีรับมอบเงินสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา จำนวน 49,250,000 บาท สำหรับเป็นพื้นที่เพื่อการรองรับการดูแลและรักษาช้างป่วยอย่างทันท่วงที ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพช้างและสัตว์ป่าที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจบนพื้นที่ 26 ไร่ ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.น.สพ.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ศ.ปฏิบัติ ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมรับมอบโดยมีสักขีพยาน จากผู้แทนหน่วยงานองค์กรต่างๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ช้างร่วมพิธีด้วย
ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความผูกพันกับช้างเลี้ยงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือซึ่งมีจำนวนช้างเลี้ยงคิดเป็นหนึ่งในสาม หรือ 1,500-1,600 เชือก ของประชากรช้างเลี้ยงทั้งหมดของประเทศกว่า 4,000 เชือก ราว 1 ใน 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศถึง 418 เชือก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย จึงได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าขึ้น เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพช้างในรูปแบบคลินิกเคลื่อนที่ด้วยรถกระบะ 2 คัน ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภายนอก ควบคู่ไปกับการวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับช้างและสัตว์ป่า เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพช้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีการออกให้บริการดูแลสุขภาพช้างและรักษาช้างป่วยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 เคสต่อเดือนซึ่งทีมสัตวแพทย์ยังคงประสบปัญหาในการรักษาช้างป่วยในพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดในด้านสถานที่ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ อีกทั้งสถานที่เลี้ยงช้างในจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสัตว์ที่สามารถรองรับช้างป่วยได้ และการขนย้ายช้างป่วยเป็นระยะทางไกลนั้นมีความยากลำบาก ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการการดูแลสุขภาพช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงมีแผนที่จะจัดตั้ง ‘โรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า’ แห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า แห่งใหม่นี้ ประกอบไปด้วย อาคารโรงพยาบาลช้าง อาคารสำนักงาน อาคารพักฟื้นช้างป่วย อาคารโรงเก็บอาหารและบ้านพักควาญช้าง ระบบไฟฟ้าและน้ำประปา ครุภัณฑ์ประกอบอาคาร ครุภัณฑ์สำนักงาน และ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน จะสามารถรองรับช้างป่วยที่มีอาการหนักหรืออยู่ในขั้นวิกฤตไว้รักษาได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 6 เชือก
พร้อมสามารถจัดการอบรมภาคปฏิบัติระยะสั้นสำหรับนักศึกษาคณะสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง สัตว์ป่า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนพื้นที่มีความเหมาะสมมาก เพราะอยู่ใกล้ป่าสักที่ยังสมบูรณ์ มีความเป็นธรรมชาติ เมื่อรับการรักษาช้างจะได้ไปพักผ่อนในป่าใกล้ๆ ได้ แต่สถานที่อาจต้องมีพื้นปูนเพื่อใช้เวลารักษาที่ต้องใช้น้ำมาก หากเป็นดินอาจชื้นแฉะ ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มได้ประมาณ 2-3 เดือนนับจากนี้ คาดใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะเมื่อได้รับงบประมาณจะต้องตั้งคณะกรรมการ จัดซื้อจัดจ้าง ขออนุญาตใช้พื้นที่ น้ำ ไฟ และเจาะน้ำบาดาล เมื่อแล้วเสร็จก็จะเป็นสถานที่ดูแลช้าง ฝึกนักศึกษาสัตวแพทย์ออกไปเป็นหมอช้างที่ดีในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเราผลิตนักศึกษาได้ 80 คนต่อปี และเป็นหมอช้าง 1-2 คนต่อปี หรือบางทีอาจจะ 10 คนต่อปี แล้วแต่ลักษณะความชอบของสัตวแพทย์
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าวว่า ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้างศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า แห่งใหม่นี้ จะสามารถเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริงของบุคลากรช่วยกระตุ้นแรงจูงใจให้เพิ่มสัตวแพทย์เชี่ยวชาญทำงานในด้านนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมสามารถจัดการอบรมภาคปฏิบัติระยะสั้นสำหรับนักศึกษาคณะสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง สัตว์ป่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยสถานที่ตั้งห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ขณะที่ น.ส.กัญจนา กล่าวว่า ตนเองมีความรักช้างมากและช้างมีปัญหาเรื่องสุขภาพใหญ่พอๆ กับตัวของเขาเอง และการดูแลยาก เมื่อทราบว่า ทาง มช. อยากสร้างโรงพยาบาลช้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงหารือและเต็มใจมอบเงินช่วยเหลือในการสร้างโรงพยาบาลช้างให้สำเร็จภายใน 1 ปี และหวังว่า จะมีคุณูปการต่อช้างและชาวช้างเชียงใหม่และภาคเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสถานที่รักษาที่ดี สบายใจ ดีใจมากที่ได้มอบเงินในวันนี้ ความจริงโรงพยาบาลช้างในประเทศก็มีแต่ไม่มาก ภาคใต้ 2 แห่ง ที่ จ.พังงา และกระบี่ ภาคอีสาน เป็นของกรมปศุสัตว์ ภาคกลาง ที่กำแพงแสนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเหนือ ที่ จ.ลำปาง และล่าสุดโรงพยาบาลช้างของ มช.
“สถานการณ์ช้างในเมืองไทยตอนนี้ที่น่าห่วง คือ จากที่มีการกระตุ้นเสริมทางการท่องเที่ยวโตขึ้นมากทำให้ปางข้างภาคเหนือมีการเร่งผลิตลูกช้างเพื่อเพิ่มประชากรช้างรองรับ มีการแยกจากแม่ก่อนเวลาอย่างน่าเป็นห่วง เพราะปกติเมื่อคลอดต้องรอ 30 เดือนจึงจะแยกจากแม่ แต่ปัจจุบันไม่เคยครบเวลา มีการขายลูกช้าง 1 ขวบให้กับปางที่ต้องการและยังบังคับแม่ให้มีลูกเพิ่ม เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อยากฝากให้กรมปศุสัตว์ติดตามเอาผิดให้ได้โดยเร็ว ปกติชอบทำแต่เรื่องใหญ่ๆ ไถ่ชีวิตช้างพอแล้ว มีอีกเรื่องคือวิกฤตควาญช้างที่มีน้อยและเหลือน้อยไปทุกทีและขาดทักษะ ก็มีกองทุนรองรับอยู่ก็อยากพัฒนาเรื่องนี้ โดยเฉพาะควาญที่ดูแลช้างเพศผู้"น.ส.กัญจนา กล่าวย้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมอเตือนอย่าประมาท PM2.5 ไม่เกินมาตรฐานก็อันตราย
หมอเตือนอย่าประมาทสุขภาพกับ pm2.5 ไม่เกินมาตรฐานก็อันตราย เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและต้องใส่หน้ากากอนามัย
'หนูนา กัญจนา' ประกาศอำลาวงการช้าง เมื่อจบเรื่องทุกอย่างจะอยู่อย่างสงบ
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หรือ "หนูนา" ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรมช. ศึกษาธิการ ผู้มีบทบาทอนุรักษ์ช้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า
จัดระดมสมอง 'สื่อยุคเทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายแห่งอนาคตสื่อสารมวลชน' 21 พ.ย.นี้
สมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน - คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มัดรวมกูรู ร่วมเสวนา “สื่อยุคเทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายแห่งอนาคตสื่อสารมวลชน" พร้อม Live สด ให้ชมทั่วประเทศ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน นี้
เดือด! 'หนูนา' ซัดคนใจมืดบอดเอาเรื่องความอยู่รอดของ 'น้องกันยา' มาโจมตี ขู่ฟ้องพรบ.คอมพ์
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หรือ "หนูนา" ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรมช. ศึกษาธิการ ผู้มีบทบาทอนุรักษ์ช้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ไม่ชอบดราม่า! 'ป้าแสงเดือน' โพสต์เจอน้ำท่วมยังไม่ร้ายแรงเท่าคลื่นแห่งความเกลียดชัง
นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม