เพื่อไทยไล่กวดก้าวไกล ประชาธิปัตย์ฟัดภูมิใจไทย พรรค2ขั้วเปิดศึกชิงการนำ

มีการคาดหมายกันว่าหลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ในช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ การเมืองไทยน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าสมาธิการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งไปที่การเตรียมจัดประชุมเอเปกเป็นหลัก เลยทำให้หลายเรื่องทางการเมืองดูอึมครึม ไม่เดินหน้า

 เห็นได้จากที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติ ตั้งแต่ 12 ตุลาคม เสนอชื่อ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง เป็น รมช.มหาดไทย แต่จนถึงตอนนี้ผ่านไปนานแล้ว พลเอกประยุทธ์ก็ยังไม่ยอมทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนริศเป็น รมช.มหาดไทยเสียที ทำให้การจะเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีของนริศเสียเวลาไปแบบเห็นๆ เช่นเดียวกับความอึมครึมว่าพลเอกประยุทธ์จะเลือกเส้นทางเดินต่อจากนี้อย่างไรในการเลือกตั้งรอบหน้า จะลงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่น เช่น รวมไทยสร้างชาติ หรือจะวางมือการเมือง รวมถึงเรื่องจะดันให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมสี่ปี หรือเลือกที่จะยุบสภาก่อนครบวาระในช่วงต้นปีหน้า

ความอึมครึมดังกล่าว คาดหมายกันว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปก เพราะฝ่ายพลังประชารัฐก็ต้องการความชัดเจนจากบิ๊กตู่เช่นกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไป พรรคจะได้เตรียมพร้อมได้ทัน 

ทำให้ประเมินแล้ว หลังเสร็จสิ้นประชุมเอเปก ความชัดเจนทางการเมืองในเรื่องต่างๆ คงคลี่คลายมากขึ้นแน่นอน

เพราะด้วยสถานการณ์อึมครึมดังกล่าว ผนวกกับตอนนี้ สภาชุดปัจจุบันทำหน้าที่กันอีกแค่สี่เดือนก็หมดวาระ เพราะเป็นเทอมสุดท้ายแล้ว

ทำให้การทำงานของ ส.ส.ในสภาช่วงต่อจากนี้ บรรดา ส.ส.-นักการเมือง-พรรคการเมือง เสียสมาธิการเมืองกันไปเยอะ เพราะต้องเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้ง หลายคนต้องตรึงพื้นที่ไว้ไม่ให้คู่แข่งมาแซะได้ ผนวกกับหากดูจากระเบียบวาระการประชุมสภา ร่างกฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลก็แทบไม่มีแล้ว ทำให้รัฐบาลไม่ค่อยกังวลใจในการต้องผลักดันกฎหมายผ่านสภาให้ได้ภายในสี่เดือนนี้ เลยทำให้การคุมเข้มการประชุมสภาของวิปรัฐบาลจึงไม่ค่อยเน้นมากนัก เพราะวิปฯ ก็รู้ดีว่า ส.ส.แต่ละคนช่วงนี้ งานในสภาก็ต้องลดโทนลงเพราะต้องลงพื้นที่เลือกตั้ง

จึงไม่แปลกที่การประชุมสภานัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา จะเกิดภาพ สภาล่ม หลังเปิดประชุมไปได้ไม่กี่ชั่วโมง ทำให้นับถึงตอนนี้สภาผู้แทนราษฎรล่มไปแล้ว 21 ครั้ง ตลอดช่วงการทำงานของสภาชุดนี้ประมาณ 3 ปี 8 เดือน และอาจได้เห็นภาพสภาล่ม ส.ส.หายหัว ไม่อยู่สภา ไม่เข้าประชุมสภาหลังจากนี้อีกก็เป็นได้ หากยิ่งใกล้เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังสภาครบวาระมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ในสภาพที่พรรคการเมืองขั้วรัฐบาล-ขั้วฝ่ายค้าน และพรรคตั้งใหม่ กำลังเร่งทำพื้นที่ สร้างแบรนด์พรรค สร้างผลงานและนโยบายให้ประชาชนจดจำ จะพบว่าพรรคการเมืองทั้งขั้วรัฐบาลและขั้วฝ่ายค้าน แม้ตอนนี้จะเป็นพันธมิตรการเมืองกัน เพราะอยู่ในขั้วเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาก็ขับเคี่ยว-ขบเหลี่ยม เพื่อ ชิงการนำทางการเมือง กันตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ใกล้เข้าสู่การเตรียมเลือกตั้ง ก็ยิ่งเห็น การขบเหลี่ยม ชิงการนำกันมากขึ้น และชัดมากขึ้น

อย่างคู่ฝ่ายค้านก็เห็นชัด ที่ผ่านมา เพื่อไทย-ก้าวไกล มีการชิงการนำกันตลอดเวลาในช่วงการเป็นฝ่ายค้านร่วมกันมากว่าสามปี โดยเฉพาะในช่วงสำคัญๆ เช่น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน บางรอบกระทบกระทั่งกันทางการเมืองค่อนข้างหนัก จนฝ่ายค้านแตกกันเละ แต่ระยะหลังคงเพราะทำงานร่วมกันมากว่าสามปี เลยเริ่มรู้นิสัยกันมากขึ้น และไม่ต้องการให้เกิดภาพฝ่ายค้านแตกกันเอง ทำให้การกระทบกระทั่งกันของเพื่อไทยกับก้าวไกลลดลง

โดยสาเหตุที่ทั้งสองพรรค แม้จะเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน แต่ต้องชิงเหลี่ยมกันเอง ก็เพราะทั้งสองพรรคมี

กลุ่มเป้าหมายทางการเมือง-ฐานเสียง กลุ่มเดียวกัน ที่ก็คือ

กลุ่มที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์-ไม่เอารัฐบาล-ต่อต้าน 3 ป.-ชิงชังพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้-เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนอกสภาของม็อบสามนิ้ว รวมถึง ฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่

เลยทำให้ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลมีการชิงเหลี่ยมการเมืองกันแบบหนักบ้างเบาบ้างกันมาตลอด เพื่อสร้างเครดิต ผลงาน สร้างฐานเสียงแฟนคลับให้กับพรรคตัวเอง

โดยฝ่ายเพื่อไทยรู้ตัวดีว่าฐานเสียงของตัวเองสวิงไปที่พรรคก้าวไกลเยอะ ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่แล้ว เลยทำให้ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรคเพื่อไทย พยายามปรับตัวสู้ มีการรีแบรนด์พรรคเพื่อรักษาฐานเสียงตัวเองและสร้างฐานคะแนนใหม่ งัดกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การดันอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ออกมาเล่นการเมืองเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด ที่ก็ได้ผลระดับหนึ่งในการสร้างกระแสเพื่อไทยในตลาดคนรุ่นใหม่ แต่บางจังหวะเพื่อไทยก็ก้าวทางการเมืองช้ากว่าก้าวไกลหลายขุม ทั้งเรื่องการทำงานในสภา ที่เห็นได้ชัดว่าก้าวไกลทำได้ดีกว่าเพื่อไทยเยอะ เช่น บทบาทการตรวจสอบรัฐบาล การเสนอกฎหมาย จนทำให้กระแสก้าวไกลเบียดขึ้นมาชนกับเพื่อไทยแบบหายใจรดต้นคอ

เห็นได้จากวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.”

เมื่อถามถึงบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 ระบุว่าเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 15.20 ระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 3 ร้อยละ 14.10 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ที่แสดงให้เห็นว่ากระแสพิธาและก้าวไกลดีขึ้น แต่กระแสคะแนนนิยมแพทองธารตกลง

เรื่องนี้น่าจะทำให้เพื่อไทยนั่งไม่ติด เพราะไม่เป็นผลดีต่อเพื่อไทยแน่นอน และแสดงให้เห็นว่าคะแนนนิยมอุ๊งอิ๊งค์เริ่มมีปัญหาแล้ว แม้จะพบว่าผลสำรวจดังกล่าว ต่อข้อถามถึงเรื่องว่า พรรคการเมืองที่คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต อันดับ 1 ร้อยละ 28.50 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 26.45 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 9.50 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ

อีกทั้งพบว่า ผลโพลดังกล่าว ช่องว่างระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลก็ห่างกันไม่มาก แบบนี้น่าจะทำให้เพื่อไทยคิดหนักในการที่จะต้องวางแผนการเลือกตั้งที่เข้มข้นกว่าเดิม เพราะนอกจากต้องสู้กับพรรคขั้วรัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์แล้ว ยังต้องวางแผนสู้และแย่งชิงคะแนนจากพรรคการเมืองในขั้วฝ่ายค้านด้วยกันเองอย่างก้าวไกลอีก จึงเป็นงานหนักของทีมเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะดูแล้วงานนี้ไม่ง่าย

หากดูจังหวะก้าวทางการเมืองของเพื่อไทยหลายต่อหลายเรื่องก็ยังช้า และตามหลังก้าวไกลหลายก้าว อย่างเช่นเรื่องของ การปลดล็อกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ก้าวไกลได้เครดิตเรื่องการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือสุราก้าวหน้าไปเต็มๆ แม้ร่างจะถูกตีตก โดนคว่ำกลางสภาวาระสาม แต่มันก็ทำให้ก้าวไกลเอาเรื่องนี้ไปขยายผลตอนหาเสียงเลือกตั้งเพื่อเรียกคะแนนได้อีก ทำให้สามารถเรียกคะแนนจากผู้สนับสนุนแนวทางนี้ให้ตัดสินใจเลือกก้าวไกลได้แบบไม่ลังเล ยามเมื่อการเลือกตั้งมาถึง

เรื่องนี้ทำเอา เพื่อไทยที่ล้าหลังและก้าวขาการเมืองตามหลังก้าวไกลนั่งไม่ติด ต้องเร่งพลิกเกมไม่ให้พรรคตกขบวน ถึงกับให้คนในพรรคเพื่อไทยออกมาสร้างกระแสว่าเรื่องการปลดล็อกธุรกิจสุรา เช่น การทำสุราพื้นบ้าน เป็นเรื่องที่เพื่อไทยทำมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยแล้ว แค่นั้นไม่พอ ถึงขั้นเพื่อไทยต้องรีบออกแถลงการณ์แก้เก้อ เตรียมชูนโยบาย สุราประชาชน ตอนเลือกตั้ง และโหนกระแสว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายนี้เพื่อหยุดการผูกขาด

นโยบายสุราประชาชนจึงเป็นหนึ่งในอีกหลายนโยบายที่พรรคจะเสนอขอการสนับสนุนจากพี่น้องคนไทยผ่านการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพื่อเดินหน้า เพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” แถลงการณ์เพื่อไทยระบุ

ดูรูปการณ์แล้ว เพื่อไทยกับก้าวไกลคงต้องมีการขบเหลี่ยมการเมืองกันเองตามมาอีกหลายยกหลังจากนี้ เพื่อช่วงชิงฐานเสียงจากประชาชนในกลุ่มเดียวกัน ที่คงดุเดือดมากขึ้นยามเมื่อเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง

ขณะที่ฟากฝั่ง พรรคการเมืองขั้วรัฐบาล ก็มีการขบเหลี่ยมกันเองเช่นกัน โดยที่เห็นชัดตอนนี้คือการขบเหลี่ยมกันระหว่าง ภูมิใจไทยVSประชาธิปัตย์ กับเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ

ที่ตอนนี้หัวหน้าพรรคทั้งสองพรรค คืออนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย กับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดหน้าชนกันเองแล้ว พร้อมกับไฟเขียวให้ลูกพรรคซัดอีกฝั่งได้เต็มที่ จนตอนนี้สองพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยเลยฟัดกันอุตลุด

ที่มองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น หากแกนนำทั้งสองพรรค และตัวพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ไม่ลงมาหย่าศึกห้ามมวยเสียก่อน คาดว่าถึงตอนประชุมสภาที่จะมีการอภิปรายและโหวตร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ วาระสองและสาม ในอนาคตอันใกล้นี้ คงได้เห็น ส.ส.จากทั้งสองพรรคเปิดศึกกันเองกลางที่ประชุมสภาแน่นอน ส่วนผลจะออกมาอย่างไร รอติดตามกัน

ทั้งหมดคือสภาพทางการเมืองปัจจุบันที่กำลังรอคลี่คลายความอึมครึมหลังเอเปก และการส่องสภาพการขบเหลี่ยมการเมืองของพรรคการเมืองทั้งขั้วฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งจะมีผลไปจนถึงช่วงเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการ รัฐบาลเล่นกลแจกเงินหมื่น หาเสียงนิยมให้พท.

'จตุพร' ซัดรัฐบาลเล่นกลซ่อนเจตนากู้เงินแจกหมื่น เชื่อปั่นความหวังเคลมดิจิทัลหาเสียงนิยมให้เพื่อไทย แต่ ปท.ชิบหายแบกหนี้ก้อนโต ชี้พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการเท่านั้น

จับตา ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ '1ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์' ผ่าน THACCA

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า