พิธาลุ้นกลับสภาฯ 24 ม.ค. หากไม่รอด คดีอาญารอฟัน!

หลังเรื่อง หุ้นสื่อไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์   อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ในที่สุดก็จะมาถึงจุดสิ้นสุดเสียที

 เพราะวันพุธกลางสัปดาห์นี้ 24 ม.ค. เวลาบ่ายสองโมงตรง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัย คดีหุ้นสื่อพิธา-ไอทีวี

อันเป็นคำร้องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง  สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

และต่อมาหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น สส. นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นต้น

จึงเท่ากับเป็นเวลาร่วม 6 เดือนแล้ว ที่พิธาไปรัฐสภาได้ แต่เข้าห้องประชุมสภาฯ ไม่ได้

แต่หากวันพุธที่ 24 ม.ค.นี้ ถ้าเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง อันหมายถึง พิธาชนะคดี ก็จะทำให้พิธาเดินกลับเข้าห้องประชุมสภาฯ ได้ทันทีหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นลง

คำร้องคดีพิธาพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้องเมื่อ 20 ธ.ค.2566 ซึ่งพิธาได้นำพยานหลักฐานสำคัญในคดีไปให้ถ้อยคำกับศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม จากที่เคยส่งไปก่อนหน้านั้น

ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานส่วนตัวในเรื่องของผู้จัดการมรดก ที่หลังพิธาได้รับโอนหุ้นดังกล่าวมาจากบิดา และต่อมา ศาลแพ่งมีคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2550 รวมถึงหลักฐานเอกสารคำยืนยันจากสำนักงาน กสทช. ที่เป็นหน่วยงานในการควบคุมกิจการสื่อโทรทัศน์ เช่น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ เพื่อสู้คดีว่า ITV ที่ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ยกเลิกสัญญาวันที่ 7 มี.ค.2550 จึงไม่ถือว่าประกอบกิจการสื่อฯ แล้ว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ แวดวงการเมืองและนักกฎหมาย แม้แต่ สส.พรรคก้าวไกล ต่างบอกตรงกันว่า ประเมินทิศทางการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แบบ เดาทางยาก ว่าสุดท้าย ผลการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าวันพุธที่ 24 ม.ค. ก่อนจะนำไปอ่านในตอนบ่ายสองโมงจะออกมาอย่างไร?

เพราะแม้ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวางบรรทัดฐานไว้แล้วกับคำร้องคดีถือหุ้นสื่อของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในคดีหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ว่า แม้บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ จะเลิกการประกอบธุรกิจสื่อไปแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาธร ถือหุ้นดังกล่าวไว้จนถึงวันลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จึงทำให้ถือว่า ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครสส. จนทำให้ธนาธรกลายเป็น สส.ของสภาชุดที่แล้ว คนแรกที่ต้องหลุดจาก สส. จากกรณีถือหุ้นสื่อฯ

อย่างไรก็ตาม มีการมองกันว่า บริบทและรูปคดีของพิธามีความแตกต่างจากเคสของธนาธรค่อนข้างมาก จึงทำให้พิธาก็ยังมีโอกาสลุ้นชนะคดีอยู่ 

วิเคราะห์ทิศทางการวินิจฉัยคดีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธาไว้เบื้องต้นว่า

ลำดับแรก ตุลาการศาล รธน.จะพิจารณาก่อนว่า ไอทีวียังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนอยู่หรือไม่   โดยจะยังคงยืนยันตามหลักการเดิม ที่เคยวางไว้ว่า   ธุรกิจที่จดทะเบียนทำกิจการสื่อด้วย แม้จะยุติการดำเนินการ ยุติการแพร่ภาพออกอากาศมาหลายปี   แต่หากยังไม่ได้แจ้งยกเลิกการประกอบกิจการกับกรมทะเบียนการค้า จะถือว่ายังทำธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่

โดยหากท้ายที่สุด ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสื่อแล้ว เพียงแต่ที่ยังไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกกิจการเพราะอยู่ระหว่างการรอฟังผลทางคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลปกครอง ที่หากออกมาแบบนี้ ก็คือการยกคำร้อง ซึ่งจะทำให้พิธาชนะคดี ได้เดินกลับเข้าห้องประชุมสภาฯ ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.

ทว่าหากเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไอทีวี ที่แม้จะยุติการออกอากาศไปแล้ว แต่การที่ยังไม่แจ้งยกเลิกการประกอบกิจการต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงยังถือว่าประกอบกิจการเป็นสื่ออยู่ เพราะยังคงมีการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ให้เห็นอยู่ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นฯ

 จากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะไปพิจารณาในประเด็นที่ว่า พิธามีเจตนาครอบครองหุ้นไอทีวีดังกล่าวก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ เหตุใดถึงไม่มีการโอนหรือจำหน่ายหุ้นออกไปก่อนสมัครรับเลือกตั้ง 

โดยหากเสียงข้างมากของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พิธามีเจตนาถือครองหุ้นไอทีวีที่เป็นกิจการสื่อไว้ แต่เมื่อเห็นว่าอาจเกิดปัญหาขึ้น ต่อมา พิธาจึงโอนหุ้นออกไปเมื่อ 25 พ.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคก้าวไกลกำลังเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลหลังชนะเลือกตั้ง ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นมาในแนวทางนี้ ก็หมายถึงศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพิธามีเจตนาครอบครองหุ้นไอทีวีที่ยังเป็นกิจการสื่ออยู่ จึงถือว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.

ที่ก็คือ ทำให้พิธาหลุดจากการเป็น สส.ทันที โดยจะให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 แต่จะไม่มีเรื่องของการถูกตัดสิทธิ์การเมือง-การเลือกตั้งแต่อย่างใด

กระนั้น มีการมองกันว่า หากพิธาไม่รอด ก็ให้จับตาว่า กกต.จะขยับฟันดาบสองพิธาในคดีอาญา ตามมาหรือไม่ ด้วยการยื่นเอาผิดตามมาตรา 151 พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส. ที่บัญญัติว่า

ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี”

หลังก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวหลุดมาจากตึกสำนักงาน กกต.ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนของ  กกต.ที่ไต่สวนเอาผิดคดีอาญากับพิธา มีความเห็นให้ยกคำร้อง เพราะมองว่า การเอาผิดตามมาตรา 151 ที่เป็นเรื่องทางอาญานั้น อนุกรรมการฯ  พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายว่ามีเจตนา หาก กกต.เอาผิดคดีอาญาต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีข่าวว่า กรรมการ กกต.ขอให้อนุกรรมการฯ เบรกการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีพยานหลักฐานอะไรที่สำคัญปรากฏออกมาหรือไม่ และศาลตัดสินอย่างไร จากนั้นจึงจะมีการนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่า จะเอาผิด “พิธา” ในคดีอาญา หรือจะยกคำร้อง ตามที่เคยมีความเห็นก่อนหน้านี้

ดังนั้น 24 ม.ค.นี้ หากพิธารอด ก็พ้นบ่วงหนามการเมืองทั้งหมด แต่หากไม่รอด ก็อาจเจอซ้ำดาบสองตามมาอีกก็ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’เป้าหลัก‘พิชิต’เป้ารอง ‘อำนาจเก่า’เขย่า‘แม้ว’แรง

สถิตินายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคพลังประชาชนจนมาถึงปัจจุบัน กับศาลรัฐธรรมนูญ ลงเอยไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

'พิธา' โหนเวทีผู้นำเอเชีย ตีปี๊บ 'ก้าวไกล' สะพานเชื่อมลดขัดแย้งสังคมไทย

‘พิธา’ ถกเวทีความเป็นผู้นำแห่งเอเชีย ย้ำ ’ก้าวไกล’ เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างของสังคม ลั่นความฝันคนไทย อยากได้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’

เศรษฐาหลุดนายกฯคนที่4..? ศาลรธน.เปิดห้องไต่สวนคดี

การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นับจากนี้เชื่อได้ว่าจะขาดสมาธิในการทำงาน และต้องคอยพะวงกับการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี 40 สว.ร้องกรณีทูลเกล้าฯ พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีแน่นอน

'พิธา' โผล่เกาหลีใต้ ร่วมประชุมผู้นำระดับโลก โหน 10 ปี รัฐประหาร

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม Asian Leadership Conference ร่วมกับผู้นำและอดีตผู้นำระดับโลกในสาขาต่างๆ ซึ่งในปีนี้เป็นการหารือหัวข้อนวัตกรรมของการเป็นผู้นำในสถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง

เบื้องหลัง 'พิชิต' สละชีพเพื่อนาย หวังตัดตอน ล้มคดีช่วยนายกฯ

"พิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" เจ้าของฉายาการเมือง "ทนายถุงขนม 2 ล้านบาท" ตัดสินใจ “ฮาราคีรีตัวเองทางการเมือง” ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค. หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.ในช่วงเช้า