ตัดสินก้าวไกล-คดีล้มล้างฯ หลังลือตุลาการฯรุมถามยิบ

วันพุธที่ 31 ม.ค. ตั้งแต่เวลาบ่าย 2 โมง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำการอ่านคำวินิจฉัยกลางคดี ล้มล้างการปกครองฯ ที่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกร้องที่ 2

เบื้องต้นมีการเปิดเผยว่า พิธาและชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน จะปักหลักลุ้นติดตามการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยอยู่ที่รัฐสภา จะไม่เดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง

ขณะที่ผู้ร้องในคดีนี้ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร-ทนายความอิสระ บอกว่าจะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัย

สำหรับ คดีล้มล้างการปกครองฯ ดังกล่าว รูปคดีก็คือ เป็นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา สมัยเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่?

ในตัวคำร้องระบุถึง พฤติการณ์แห่งคดี ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องว่า เกิดจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ  

1.กรณีกลุ่ม สส.พรรคก้าวไกลในสภาฯ สมัยที่แล้ว จำนวน 44 คน โดยมีพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นแกนนำ ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ

 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแก้ไข 112 ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตอนนั้น ไม่มีการบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ สมัยที่แล้ว

2.กรณีพรรคก้าวไกลนำเรื่องการจะแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

คำร้องดังกล่าว จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และหากเห็นว่าเข้าข่าย ก็ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดการเคลื่อนไหว หยุดการแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยไม่มีเรื่องการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

สำหรับทิศทาง มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมาเป็นคำวินิจฉัยคดี

หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ก็เท่ากับพิธา-ก้าวไกลชนะคดี ได้เฮรอบ 2 ติดๆ กัน หลังพุธที่แล้วพิธาเพิ่งชนะคดีหุ้นสื่อไอทีวี

ผลที่ตามมาอาจทำให้ก้าวไกลกลับมาขยับเรื่องการเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ อีกครั้ง เพื่อบอกกับประชาชน-แฟนคลับว่า ได้ทำตามที่หาเสียงแล้ว ส่วนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะทำให้ก้าวไกลออกมาพูดเรื่องในเชิงด้านลบของมาตรา 112 มากขึ้น หลังที่ผ่านมาก้าวไกลอยู่ในอาการ หมอบชั่วคราว ก็เพราะรอคำตัดสินของศาล รธน. วันที่ 31 ม.ค.นี้

แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทาง ไม่เป็นคุณ กับพรรคก้าวไกล ที่แม้ต่อให้ศาล รธน.ไม่ได้มีคำสั่งห้ามพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 แต่ถ้ามีข้อความปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำนองว่า พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลในเรื่องการแก้ไข 112 เข้าข่ายเป็นการกลั่นเซาะ บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ

ก็อาจทำให้มีบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกลรับลูกขยายผล ด้วยการไปยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ที่บัญญัติว่า “หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

รวมถึงอาจมีอีกหนึ่งดอกฟาดฟันพิธาและก้าวไกล ก็คือ อาจมีบางคนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการระบุถึงพฤติการณ์ของ สส.ก้าวไกล ว่ากลั่นเซาะ บ่อนทำลาย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ก็อาจทำให้บางคนไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดพิธาและ สส.พรรคก้าวไกล ว่า กระทำการขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีการเขียนไว้ในข้อ 5 ที่ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อ 6 ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วน ป.ป.ช.จะรับลูกด้วยหรือไม่ ต้องรอดู แต่ทั้งหมดลำดับแรกต้องดูผลคำตัดสินของศาล รธน.ที่จะออกมาก่อน

เพราะหากสุดท้าย พิธา-ก้าวไกลชนะคดี เรื่องก็จบ และไม่แน่ แม้ก้าวไกลจะกลับมาเคลื่อนไหว เรื่อง 112 อีกรอบ แต่โทนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้อาจสมูธมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าเหมือนที่ผ่านมา

 เบื้องต้นพิธา-แกนนำพรรคก้าวไกล-สส.พรรคก้าวไกล ต่างเชื่อมั่นกันมากว่า ผลคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรน่าหนักใจ คำตัดสินจะออกมาเป็นคุณกับพรรคก้าวไกล

แม้จะมีกระแสข่าวร่ำลือกัน หลังการไต่สวนคดีดังกล่าวในห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 25 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการไต่สวนภายใน-ปิดลับ 

กระแสข่าวอ้างว่า วันดังกล่าวที่พิธากับชัยธวัชควงคู่กันไปให้ถ้อยคำ-ชี้แจงต่อหน้า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลางห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวลือทางการเมืองลอยมาว่า วันดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนได้ตั้งประเด็น ซักถามพิธาอย่างมาก กินเวลาพอสมควร เพื่อลงลึกรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร ทำไมต้องเสนอแก้ 112 รวมถึงการที่พรรคก้าวไกลนำเรื่องแก้ 112 ไปหาเสียง และไปพูดบนเวทีหาเสียง จนถูกนายธีรยุทธยื่นในคำร้อง เช่นวันที่พรรคก้าวไกลปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดชลบุรี ที่มี 2 แกนนำม็อบสามนิ้วสายฮาร์ดคอร์ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ไปขอขึ้นเวทีดังกล่าวด้วย และตัวพิธาบอกว่า เห็นด้วยกับการแก้ 112 แต่ว่าต้องเข้าไปแก้ในสภาฯ ก่อน แต่หากเขาไม่ให้แก้แล้วค่อยว่ากัน 

ข่าวว่าประเด็นเหล่านี้มีการซักถามลงรายละเอียดจากศาลพอสมควร เมื่อ 25 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา

กระนั้นรอฟังผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาจะดีที่สุด และเชื่อว่าไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน จะเกิดผลตามมาในเรื่อง มาตรา 112 ในสังคมการเมืองไทยพอสมควร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล