ก้าวไกล ยังมีโอกาสรอด! เส้นทางคดี จบที่ศาลฎีกาไม่เร็ว

กระบวนการทำงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีคนไปยื่นเรื่องให้สององค์กรอิสระข้างต้น

เช็กบิล-ถอนรากถอนโคน กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล  

จากผลพวงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ใน คดีล้มล้างการปกครอง ที่ศาล รธน.ชี้ว่า พฤติการณ์ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ  ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ

จนต่อมา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ยื่นให้ กกต.เอาผิดพรรคก้าวไกล ด้วยการส่งเรื่องให้ศาล รธน.มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 92 (1) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ

และตามด้วย สนธิญา สวัสดี กับธีรยุทธ ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิด สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ต่อสภาสมัยที่แล้ว ในข้อหาฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ

คาดว่า ทั้ง กกต.-ป.ป.ช. คงใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณา

เพราะหากดูจากเส้นทางคดี คำร้องคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ที่  ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โดนศาลฎีกาฯ ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตจากการโพสต์ภาพและข้อความหมิ่นสถาบันฯ

พบว่า ศรีสุวรรณ จรรยา ไปยื่น ป.ป.ช.เมื่อ มิถุนายน 2562 และต่อมา ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเอาผิดช่อ พรรณิการ์ และให้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 2565

จนต่อมา 20 ก.ย.2566 ศาลฎีกาฯ พิพากษา ช่อ-พรรณิการ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงฯ ให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เท่ากับใช้เวลาเกือบสามปี กว่า ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯ และกว่าศาลฎีกาฯ   จะมีคำตัดสินออกมา ก็ใช้เวลาร่วม 1 ปี 7 เดือน

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีเวลาพอสมควร ในการตั้งหลักสู้คดี เพราะคำร้องขอให้ ป.ป.ช.เอาผิด 44 สส.ก้าวไกล ก็มีคนถูกร้องถึง 44 คน ทำให้การที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิด 44 สส.ก้าวไกลหรือไม่ คงใช้เวลาพอควร

 แต่ในส่วนของ กกต. ประเมินว่า กระบวนการพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญเอาผิด พรรคก้าวไกล ด้วยการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น คาดว่า น่าจะใช้เวลาการพิจารณาเร็วกว่า ป.ป.ช. และเชื่อได้ว่า มีโอกาสสูงที่ กกต.จะส่งคำร้องไปที่ศาล รธน. ตามช่องทางของมาตรา 92 (1) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ และเชื่อได้ว่า ศาล รธน.ก็น่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย

ที่ถึงตอนนี้ หลายฝ่ายประเมินกันว่า ก้าวไกลสถานการณ์โคม่า เพราะดูแล้วแนวโน้มที่คดีจะพลิกคือ ศาล รธน.ยกคำร้องน่าจะยาก เพราะศาล รธน.ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยละเอียดถึงพฤติการณ์หลายอย่างของพรรคก้าวไกล จนสรุปว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ ตาม รธน.มาตรา 49 ที่เป็นกฎหมายสูงสุด และมีศักดิ์เหนือกว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ

ทำให้หลายคนเชื่อไปในทางเดียวกันว่า ก้าวไกลโอกาสรอดริบหรี่

 แม้ต่อให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาล รธน.จะแตกต่างกัน เพราะคดีเมื่อ 31 ม.ค. พิจารณาตามมาตรา 49 ของ รธน. แต่คำร้องยุบพรรคก้าวไกลพิจารณาตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ก็ตาม

กระนั้น หลักคิดข้างต้น ก็มีบางคนไม่เห็นด้วย เช่น มุมมองของ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์" ที่มองว่า

“พรรคก้าวไกลยังมีโอกาสรอด ไม่โดนยุบพรรค”

โดยให้เหตุผลว่า คดีพรรคก้าวไกลเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการวินิจฉัยภายใต้กรอบของมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ในคำร้องเพียงแค่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดเรื่องมาตรา 112 ส่วนการดำเนินการภายใต้กฎหมายอื่นๆ ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการภายใต้กฎหมายนั้นๆ ส่วนการร้องเพื่อให้ยุบพรรค เป็นมาตรการซึ่งอยู่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) ที่มีการเขียนถ้อยคำในมาตราดังกล่าว คล้ายๆ กับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิงโดยตรงว่า หากเกิดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว ต่อไปต้องดำเนินการตามมาตรา 92 (1) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ

จุดนี้ ดร.มุนินทร์ ย้ำว่า นั่นหมายถึงหากจะมีการดำเนินการขอให้มีการยุบพรรคการเมือง ต้องว่าไปตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดไว้ โดยหาก กกต.รับเรื่องไว้พิจารณา ก็อาจมีการไต่สวนเรื่องที่ร้องมา แต่จะใช้เวลาไต่สวนสั้นหรือยาว เป็นดุลยพินิจของ กกต. โดยหาก กกต.มีความเห็นตามมาตรา 92 ก็ต้องส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและวินิจฉัย โดยหากศาลรับคำร้อง ก็อาจมีการไต่สวนคำร้องอีก แต่จะใช้เวลาไต่สวนสั้นหรือยาว  หรือจะไม่ไต่สวนเลย โดยอาจอ้างคำวินิจฉัยเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว หรือจะไต่สวนอีก เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องอีกครั้ง ก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ

 ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ เพราะว่าตัวมาตรา 92 (1)  ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ไม่ได้บังคับว่าต้องยุบ หากศาลมองว่ามันไม่ถึงขั้นเป็นการล้มล้างการปกครองที่อาจจะมีมาตรฐานในการพิสูจน์แตกต่างจากมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจจะไม่ยุบพรรคก็ได้ โดยศาลอาจมองว่ามันไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ศาลยังมีอำนาจพิจารณาอยู่ เพราะเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่แยกต่างหากจากรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่เกิดขึ้นจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคก้าวไกล มันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ทุกๆ ความผิดของกฎหมาย เพราะแต่ละกฎหมายก็กำหนดวิธีการในการพิสูจน์ความผิด มีกระบวนการพิจารณาทางคดีที่แตกต่างกัน  มาตรฐานในการรับฟังพยานหลักฐานก็มีความแตกต่างกัน เช่นในทางอาญา ก็ต้องดูเรื่ององค์ประกอบในทางอาญา ต้องดูเจตนา คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าเมื่อมีคนไปยื่นเรื่องแล้ว แต่ละองค์กรจะมีกระบวนการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร"

เป็นมุมมองด้านกฎหมายจากนักวิชาการ ที่อาจทำให้กองเชียร์ก้าวไกลพอมีความหวังขึ้นมาบ้าง แม้ดูแล้วจะริบหรี่

ท่ามกลางการเตรียมวางแผนสู้คดีของแกนนำก้าวไกล, การเตรียมทำพรรคสำรอง และการเตรียมดันคนในพรรคขึ้นมารับไม้ต่อเป็นแถวสามต่อจากอนาคตใหม่-ก้าวไกล หากพรรคส้ม รอบนี้ไม่รอด!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล