ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ต้องการแสดงให้เห็นถึงภาพของการเห็นพ้องของทุกพรรคต่อโครงการดังกล่าว

แต่ในอีกนัยหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากมั่นใจว่าทุกอย่างฉลุย ทุกพรรคพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นที่นายเศรษฐาจะต้องนำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มายืนเป็นแบ็กกราวด์อยู่ด้านหลังแต่อย่างใด

มันเหมือนกับการ ล็อกคอ มา เพื่อทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คัดค้าน

ส่วนน้อย ที่ว่า อาจจะหมายถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นหน่วยงานเดียวที่แสดงความไม่เห็นด้วย ผ่านหนังสือที่ส่งไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 23 เม.ย.67

สาระสำคัญคือ โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคต ช่องว่างที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต ตลอดจนแนะนำให้เลือกประหยัดงบประมาณด้วยการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ตรงจุดมากกว่า

การยืนแถลงวันนั้นของนายเศรษฐาอาจเป็นการแสดงพลัง เพื่อต้องการลดทอนความเห็นของ ธปท. ให้เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น

ขณะเดียวกันยังมองกันว่า ที่ผู้ว่าฯ ธปท. แสดงความไม่เห็นด้วยผ่านหนังสือประกอบการพิจารณาของ ครม.เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยเห็นด้วยกับโครงการนี้ หากวันข้างหน้าเกิดความเสียหายและเกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย

ผู้ว่าฯ ธปท.ระวังเรื่องนี้มาโดยตลอดเพื่อไม่ให้ถูกมัดรวม ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ครั้งแรกๆ ที่เคยเอ่ยปากขอให้ที่ประชุมบันทึกการประชุมทุกคำพูดและความเห็นของตัวเอง ตลอดจนไม่เข้าร่วมประชุมในวันที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นชอบโครงการเพื่อส่งเข้าครม.

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายไม่ได้แปลกใจกับท่าทีของผู้ว่าฯ ธปท. เพราะเสมอต้นเสมอปลายกับจุดยืนนี้มาตลอด

แต่เรื่องที่น่าจับตาคือ ความไม่มั่นใจจนต้องเอาพรรคร่วมรัฐบาลมาอยู่ในเฟรมของนายเศรษฐา มันชวนคิดว่า สรุปแล้วโครงการนี้ได้รับไฟเขียวจากกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว หรือยังลูกผีลูกคนอยู่

ข้อท้วงติงของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เมื่อวันก่อนยิ่งน่าสนใจ หากขจัดอคติว่า เป็นคนที่ไม่มีทางเห็นด้วยกับโครงการนี้อยู่แล้วออก

โดย นพ.วรงค์อ้างข้อห่วงใยของอดีตคน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขมาตรา 9 พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ว่าไม่สามารถนำเงินไปใช้ในโครงการนี้ได้

เพราะกำหนดให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก อย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าวที่สามารถทำได้ เพราะดำเนินการภายใต้ขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9 (1) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 28 ไม่ได้อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม แต่โครงการมีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ เกษตรกรผู้รับเงิน 1 หมื่นบาท นำไปใช้จ่ายดำรงชีวิตทั่วไป ไม่ได้นำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างชัดเจน

ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะเกษตรกรผู้รับเงิน 1 หมื่นบาท สามารถนำไปใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ จึงไม่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบกิจการเพื่อเพิ่มรายได้

ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามกฎกระทรวง ท้ายมาตรา 9 ขยายความมาตรา 9 (1) ข้อ (ง) นี้ จะต้องเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับการศึกษา การอบรม การดูงาน การรักษาพยาบาล การปรับปรุงการจัดหาที่อยู่อาศัยเท่านั้น

ไม่เพียง นพ.วรงค์ แต่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าจะติดตอที่มาตรา 9

“คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital Wallet)” จึงเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่แจกเงินแบบเหวี่ยงแหกระจาย มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร”

แม้อีกฝั่งจะมองว่า ทั้ง นพ.วรงค์ และ นายธีระชัย เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือมีปัญหากันมาก่อน ไม่แปลกที่จะต้องค้านหัวชนฝา หาข้อติติง แต่ถ้ากางกฎหมายดูจะเห็นว่า มันมีข้อชวนคิดเหมือน

ฉะนั้น ด่าน ธ.ก.ส. ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ที่ตอนแรกดูเหมือนง่าย แต่ไปๆ มาๆ อาจจะไม่ง่าย มีประเด็นข้อกฎหมายมาให้ชวนคิด

และการที่รัฐบาลจะสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องนี้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า อาจไม่ได้นึกถึงข้อนี้มาก่อนว่าจะมีปัญหา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยชนะ' ฟาดเต็มหน้า 'เพื่อไทย' ดิจิทัลวอลเล็ตคืบหน้าในการหาแพะรับบาป  

“ชัยชนะ” ฟาด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ มีความคืบหน้าในการหา ‘แพะรับบาป’  ชี้ ‘เพื่อไทย’ เผชิญพายุหมุนที่ไม่สามารถเดินหน้าทำโครงการได้ – แนะเอาโครงการคนละครึ่ง มาปรับปรุงแก้ไข

เศรษฐา โปรยยาหอมชาวอีสาน ไตรมาส 4 รับเงินหมื่นแน่

นายกฯ ขึ้นเวทีมหาสารคาม “อุ๊งอิ๊ง” สส.เพื่อไทย พรึบ ชู 3 ปัญหาวาระแห่งชาติ ‘หนี้นอกระบบ-ยาเสพติด-ภัยแล้ง’ ย้ำคำมั่นเงินหมื่นดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ด้านปชช.คึกคักบอก ‘รักเศรษฐา’

'เศรษฐา' ลุยอีสานคุยขอจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ - ยาเสพติด

“เศรษฐา” ลุยอีสาน พบชาวมหาสารคาม ลั่นปัญหาหนี้นอกระบบหยั่งลึกสังคมไทย ขันน็อตทุกภาคส่วนทำงานหนักขึ้น หลังตัวเลขยังไม่เป็นที่พอใจ ขีดเส้นกำหนดกรอบปราบยาเสพติด 90 วัน พร้อมรายงานสำนักนายกฯทุกเดือน

โพลชี้ชัดเจน ประชาชน อยากเห็นนายกฯ ปฏิรูปตำรวจ

นายนพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ และผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง ปฏิรูปตำรวจ กับ ศรัทธาจากประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 1,597 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

เศรษฐา1/1เร่งเครื่อง ปม'พิชิต'ทำติดหล่ม หวังศาลรธน.เคลียร์จบ

ครม.เศรษฐา 1/1 หลังจากนี้ก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ รมต.ที่ได้รับการแต่งตั้ง ที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่