รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เพิ่งจะเข้าบริหารประเทศได้ไม่กี่วัน แต่ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล กลับเร่งรีบที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ทั้งที่ประเทศมีปัญหาหลายเรื่องรอให้รัฐบาลเพื่อไทยแก้ไข โดยเฉพาะ ปัญหาปากท้อง อีกทั้งนโยบายเรือธง ดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่คุยโม้โอ้อวด กลายเป็นว่าปีนี้ 2567 จะมีแค่กลุ่มเปราะบางเท่านั้นที่ได้เงินหนึ่งหมื่นบาท ส่วนที่ลงทะเบียนกันหลายสิบล้านคนต้องคอยเก้อ จนทำให้เพื่อไทยเสียแต้มการเมืองไปพอสมควร
แต่แทนที่รัฐบาลเพื่อไทยจะเร่งทำหลายเรื่องเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ประชาชนมีความหวังกับรัฐบาลแพทองธาร กู้คะแนนนิยมทางการเมืองกลับคืนมา แต่เพื่อไทยกลับเร่งรีบเสนอแก้ไข รธน.และกฎหมายประกอบ รธน.เหมือนกับเป็นเรื่องเร่งด่วนวาระแห่งชาติ
ที่ร้ายแรงก็คือ พบว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ของเพื่อไทย รวมถึงของพรรคประชาชน แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ก็เสนอแก้ไข รธน.เช่นกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นร่างแก้ไข รธน.ที่มีแต่
นักการเมือง-พรรคการเมืองได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร
เข้าข่ายทำเพื่อตัวเอง ผลประโยชน์ทับซ้อน สอดรับกับคำกล่าวอมตะ ชนชั้นใดมีอำนาจ ก็เขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น
และยังเป็นการเสนอแก้ไข รธน. ที่ทำให้จุดแข็งของ รธน.ฉบับปัจจุบันที่เป็น
รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
ซึ่งผ่านการทำประชามติมาด้วยคะแนนเสียง 16 ล้านเสียง ถูกลดดีกรีความเข้มข้นลง โดยเฉพาะเรื่อง
มาตรฐานทางจริยธรรม
ที่นอกจากใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระและศาล รธน.แล้ว ก็ยังใช้กับนายกฯ-รัฐมนตรี-สส.และ สว. ที่พบว่าเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นของการเสนอแก้ไข รธน.รอบนี้ คือหวังทำให้ นักการเมืองสีเทา เข้าสู่ตำแหน่งได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี และทำให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน ผ่านการแก้ไข รธน.ด้วยการปลดล็อกมาตรา 160 (4) และ (5) รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ที่จะตามมา
ซึ่งแกะรอยได้ว่า นักการเมือง- พรรคการเมืองมีวาระซ่อนเร้น มุ่งหวัง ลดทอน-ริบอำนาจ องค์กรตรวจสอบอย่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นความเคลื่อนไหวหลังเกิดกรณีศาล รธน.ตัดสินยุบ พรรคก้าวไกล และวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
จึงทำให้พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง ในการที่จะแก้ไข รธน.และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน. เพื่อลดทอนกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และคลายกฎเหล็กเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ของผู้จะเข้าไปใช้อำนาจบริหารประเทศ ให้คลายความเข้มข้นลง
อย่างประเด็นเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ในเรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ที่เคยทำให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็พบว่าทั้งเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างเสนอแก้ไข รธน.มาตราดังกล่าว เพียงแต่แตกต่างในรายละเอียด
ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่เสนอร่างแก้ไข รธน.รายมาตราแล้วนั้น พบว่าเสนอแก้ไขใน 6 ประเด็นหลัก อาทิ
-แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
-แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือมาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246
-แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไขกรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
-แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น
ส่วนฝ่าย พรรคประชาชน วางธงการแก้ไข รธน.และกฎหมายลูกในเรื่องเกี่ยวกับ
อำนาจของศาล รธน.-องค์กรอิสระ-มาตรฐานทางจริยธรรม
ตามคำเปิดเผยของ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำพรรคประชาชนที่รับผิดชอบเรื่องการเสนอร่างแก้ไข รธน. ที่บอกไว้อย่างเรื่องการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม พรรคประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรมและนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวน วินิจฉัยว่าการกระทำอะไรที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม สิ่งที่กังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจเดิมที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แกนนำพรรคประชาชน-พริษฐ์ บอกว่า ข้อเสนอของพรรค ปชน.มี 4 ข้อ คือ 1.แยกกลไกการตรวจสอบจริยธรรมออกจากการตรวจสอบการทุจริต โดยให้การพูดถึงจริยธรรมเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรมีกลไกทางกฎหมาย
2.ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดการนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเปลี่ยนเป็นให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตนเองที่เหมาะกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร
3.ยกเลิกอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวนและวินิจฉัยว่ากรณีไหนเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
4.ปรับกระบวนการที่ประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องร้องได้ หากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และลดบทบัญญัติที่ปัจจุบันมีการให้ดุลยพินิจของประธานสภาฯ ในการตัดสินใจว่าจะยื่นเรื่องต่อหรือไม่ แต่จะแก้ให้ประธานสภาฯ เป็นเพียงแค่คนส่งเรื่องเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องดูต่อไปว่าเมื่อมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของร่างแก้ไข รธน.ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง
ตลอดจนต้องจับตาท่าทีของ สส.และ สว.ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีการลดทอนความเข้มข้นของเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้กับรัฐมนตรี-สส.-สว.ลงมา ที่หากมีการแก้ไข คนที่ได้ประโยชน์ก็มีแค่พวกนักการเมือง-พรรคการเมืองเท่านั้น
หากดูจากจำนวนเสียง สส.-สว.แล้ว ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลต่างเอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครแตกแถว เสียงโหวตตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระ 3 ก็ฉลุย ไม่มีปัญหา ยิ่งพรรคประชาชน แกนนำฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไข รธน.ในมิติเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้เสียงโหวตเห็นชอบท่วมท้น
ส่วน สมาชิกวุฒิสภา ที่ตอนนี้มี สว.สีน้ำเงิน ร่วมๆ 150 คน หาก สว.สีน้ำเงินได้รับสัญญาณมาว่าให้โหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. ก็น่าจะมีเสียง สว.โหวตเห็นชอบด้วยเกิน 1 ใน 3 คือเกิน 64 เสียง คือเกินจำนวนขั้นต่ำที่ รธน.บัญญัติไว้เสียอีก
กระนั้น ต้องรอดูตอนช่วงใกล้ๆ รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอเข้าไป ว่าสถานการณ์การเมืองช่วงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร “แรงหนุน-แรงต้าน” จะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะเชื่อว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ก็พร้อมจะหาช่องขวางไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เช่น สร้างกระแสให้ประชาชนคัดค้าน จนทำให้ร่างถูกคว่ำในขั้นตอนทำประชามติ จากนั้นก็ขยายผลเรียกร้องให้รับผิดชอบทางการเมือง เป็นต้น
อย่างตอนนี้เริ่มเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง "ภูมิใจไทย” และ "รวมไทยสร้างชาติ” ที่ดูจะไม่ค่อยอยากร่วมสังฆกรรมด้วยกับการแก้ไข รธน.ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการลดดีกรีเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม แต่ก็ไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทยกดดันมา สส.พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจต้องยอมล่มหัวจมท้ายเอาด้วย เพื่อแลกกับการไม่ถูกถีบออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแบบ "พลังประชารัฐ”!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯอิ๊งค์ขายฝันประชานิยมปี 2568 แจกเงินหมื่น-ผ่อนบ้าน 4 พัน-ล้วงเงินหวยส่งเด็กเรียนนอก
'นายกฯอิ๊งค์' ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68 ครอบคลุมทุกมิติ มาแน่ปีหน้าเงินหมื่นเฟส 2-3 จัดบ้านเพื่อคนไทยผ่อน 4 พันไม่ต้องดาวน์ ผุดไอเดียดึงงบกองสลากส่งเด็กไทยเรียนเมืองนอก คืนชีพ 1 อำเภอ 1 ทุน
'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม
เปิดสภาวันแรกเดือด!ฝ่ายค้านซัดจงใจหนีตอบกระทู้ทั้ง ครม.
สส.เพื่อไทยเดือด ปชน. ตั้งกระทู้ปลาหมอคางดำ หลอกด่านายกฯ เบี้ยวตอบกระทู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมสภาฯ ด้าน 'ปธ.วิปค้าน' ข้องใจเจตนาแถลงผลงานตรงวันเปิดประชุมสภา ฉุนจงใจเบี้ยวตอบกระทู้ทั้ง ครม.
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?
ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"