เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระเป็นพิเศษ ตกเป็นประเด็นที่คอการเมืองต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ....ซึ่งเป็นเรื่องที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137
อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ในคราวการประชุมวุฒิสภา ที่ประชุมได้ลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 1 มาตรา คือ มาตรา 7 (แก้ไขมาตรา 13) สาระสำคัญสั้นๆ ว่าหลักเกณฑ์ประชามติที่ใช้สำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นแบบ เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) กล่าวคือ การทำประชามติต้องผ่านเกณฑ์ถึง 2 ชั้น ได้แก่ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และคะแนนเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
เมื่อฝั่ง สว.ตีกลับมา คราวนี้ สส.ต้องพิจารณาจะทำอย่างไรต่อไป จะยืนยันในจุดยืนเดิมหรือไม่ หรือพอจะแก้ไขเป็นอย่างไร หากสภาฯ เสียงแข็งยึดหลักเสียงข้างมากปกติในการทำประชามติ ก็จะเดินเข้าสู่ล็อก 180 วัน และรัฐบาลจะโดนครหาว่าต้องการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ!!!
อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันระหว่าง สส.และ สว.เพื่อหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ส่วนจะเลยเถิดถึงขั้น 180 วัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเสียงแข็ง ไม่ยอมถอยเลยหรือไม่ ต้องคอยติดตามการทำงานของคณะ กมธ.เสียก่อน
แต่ถ้าให้ประเมินท่าทีว่ารัฐบาลต้องการให้ถึงขั้น 180 วันหรือไม่ ต้องฟังเสียงของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คีย์แมนท่านหนึ่งที่มีส่วนโดยตรงกับเรื่องนี้
“อาจารย์ชูศักดิ์” ในฐานะ กมธ.และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.…สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า “...หากจะให้ทันเหมือนที่ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์นั้น ก็อาจจะมีแนวทางอื่น ที่ กมธ.ร่วมต้องไปพิจารณา ซึ่งหาก กมธ.ร่วมเห็นพ้องก็จะไปสู่การพิจารณาร่างกฎหมายได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน อาจจะใช้เวลาแค่บวกลบ 1 เดือนนิดหน่อย ซึ่งจะสามารถทำให้เสร็จได้ แต่ก็แล้วแต่ว่า กมธ.ร่วมกันจะพิจารณาอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็จะทันใช้ในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ หรือในช่วงเลือกตั้ง อบจ.”
ถอดรหัสคำว่า “แนวทางอื่น” ที่จะให้ กมธ.ร่วมเห็นพ้องนั้นหมายถึงแนวทางใด?
เมื่อเปิดเอกสารที่คณะ กมธ. สภาฯ ทำรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ นั้น จะพบว่า มาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย นำโดย ศุภชัย ใจสมุทร ในฐานะ กมธ.เคยขอสงวนความเห็นไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
ทว่า ในการประชุมสภาฯ ครั้งนั้น มีมติให้ยึดเพียงเสียงข้างมากแบบธรรมดาเท่านั้น และตีตกสิ่งที่ “ศุภชัย” กมธ.ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย สงวนไว้ กระทั่งมาถึงนาทีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะปัดฝุ่นแนวคิดของ “ภูมิใจไทย” เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้
ประกอบกับเป็นการลดแรงต้านจาก สว.ที่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า เจ้าของ สว.ตัวจริง อยู่ไม่ไกลไม่ใกล้จากภูมิใจไทยเท่าใดนัก ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเข้าล็อก 180 วันด้วย
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าเสียงของฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ อาจเห็นด้วยกับสิ่งที่วุฒิสภาแก้ไข ทั้งนี้ การเมืองเปลี่ยนได้จนนาทีสุดท้าย ดังนั้นต้องจับตาอย่ากะพริบ ว่าสุดท้ายแล้วหลักเกณฑ์ประชามติจะยึดเสียงข้างมากประเภทใด และจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรกในคราวเดียวกันกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณเดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ได้ทันหรือไม่
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติได้ประกาศเป็นกฎหมายเร็วเท่าไหร่ ความฝันแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังต้องถกเถียงกันอีกว่าจะตั้งคำถามประชามติแบบใด ซึ่งหลังสุด ครม.ชุดรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เคาะแล้ว โดยให้ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
คำถามข้างต้นก็ยังมีผู้กังขาว่าจุดประสงค์ของการห้ามแตะหมวด 2 เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มีความสงสัยว่าในหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้ จะให้ทำอย่างไร ดังนั้นใน ครม.ชุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจต้องมีการปรุงปรับคำถามใหม่หรือไม่
เอาเป็นว่าสิ้นปีนี้ได้เห็นหัวเห็นหางแล้วล่ะว่า แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง จะเป็นไปในทิศทางใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ลงพื้นที่เกาะกูด 11 พ.ย. นี้รับฟังปัญหาชาวบ้าน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีกำหนดการลงพื้นที่ เกาะกูด อำเภอเกาะกูดจังหวัดตราด ในวัน
'ทรัมป์'เอฟเฟกต์'อิ๊งค์'เร่งกู้ชีพศก. ดึงทุกกลไก-อัดเม็ดเงินเข้าระบบ
หลังรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไขปัญหาของประเทศหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เป็นทั้งปัญหาเก่าสะสมมายาวนาน และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยโลกหลายด้านที่ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยให้นายกฯ อิ๊งค์ต้องรับมือ
ปชน.ตีเมืองหลวงเสื้อแดง แมตช์ใหญ่"ปักธงท้องถิ่น"
ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.67
ปรับ“ฉก.ทม.รอ.904” “ลดอาร์ม-ถอดคอแดง”จบหรือไม่?
นับแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นในหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) หรือ ฉก.คอแดง อย่างเป็นรูปธรรม หลัง “โผทหาร” ระดับชั้นนายพลเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาจบลงไปแบบตึงๆ
'อนุทิน' เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูดสัปดาห์หน้า ให้กำลังใจชาวบ้าน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูด จ.ตราด
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ