ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอันมาก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของประชาชนได้เข้าสู่การดำเนินการผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในรูปแบบ“แพลตฟอร์มดิจิทัล” เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การประชุม การติดต่อสื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ส่งข้อความหรือจดหมาย การเสนอ/รับข้อมูลข่าวสาร การทำธุรกรรมทางการเงิน การซื้อสินค้าออนไลน์ การจองโรงแรมหรือที่พัก การเรียกหรือจองยานพาหนะสำหรับเดินทางหรือขนส่งสินค้า การสั่งอาหารหรือเครื่องดื่ม การชมภาพยนตร์ วีดิทัศน์ รายการโทรทัศน์ รวมทั้งการฟังเพลง การออกกำลังกาย และการติดต่อเพื่อรับบริการ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

จะเห็นได้ว่า “เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” มีความสำคัญอย่างมากต่อประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ในการ “จับคู่” หรือทำหน้าที่เป็นตลาด ระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าหรือบริการ กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ (ผู้บริโภค) ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มขยายขนาดของตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ  ด้วยเหตุดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รับทราบข้อเสนอหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่จัดทำโดยคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (และคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล) ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ และให้สำนักงาน ป.ย.ป. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจัดทำเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดังกล่าว ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 10 ประการ ดังนี้

  1. วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม รวมทั้งผู้ใช้บริการและผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม
  2. หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม เช่น การเปิดเผยรายงาน ความโปร่งใส และการมีระบบรับแจ้งปัญหาจากผู้ใช้งาน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจมาจากต่างประเทศ ควรจัดให้มีตัวแทนในประเทศไทยหรือมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อระหว่างผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจกับหน่วยงานกำกับดูแล
  3. หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการมีหน้าที่ลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงของข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวได้
  4. หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการกระทำความผิดหรือความเสียหายบนแพลตฟอร์มทั้งจากผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการ ตลอดจนความรับผิดในกรณีที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
  5. หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการแพลตฟอร์ม รวมทั้งมีการเปิดเผยผลการทดสอบระบบเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม ตลอดจนข้อมูลปัจจัยและเหตุผลที่ส่งผลให้นำเสนอโฆษณาให้ผู้ใช้งาน
  6. การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้มีการรับสมัคร ตรวจสอบ และรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด โดยต้องมีการปรับปรุงรายชื่อผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเป็นประจำ
  7. การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ โดยกำกับดูแลเนื้อหาสาระของข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการขนส่งที่มีผู้ส่งของ (rider) จำนวนมาก ให้มีการกำกับดูแลสัญญา โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน
  8. หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  9. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายนี้มีหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยในกรณีที่กฎหมายเฉพาะใดไม่ครอบคลุมมาตรการบางเรื่องตามกฎหมายนี้ หน่วยงานอื่นนั้นอาจพิจารณาใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ได้
  10. การรักษาความเป็นธรรมของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นหน่วยงานหลัก และให้มีการประกาศหลักเกณฑ์และรายชื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform)

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อยกร่างกฎหมายดังกล่าวก่อนเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป  ซึ่งตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา คณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อนำความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. .... โดยมีเป้าหมายที่จะให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการวางรากฐานและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้ก้าวทันโลก ก้าวทันอนาคต สอดคล้องกับยุคสมัยและสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Regulation for Better Life) ต่อไปในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีเมล [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทนายถุงขนม' คอพาดเขียง! ลุ้นศาลรธน.ชี้ขาดคุณสมบัติ 'ความซื่อสัตย์-ฝ่าฝืนจริยธรรม'

ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น'

นายกฯซวยแล้ว! ภาคปชช.อ้างคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' ยื่นป.ป.ช.เอาผิด

สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

'ภูมิใจไทย' ยื่นร่างกฎหมาย รื้อ 'คำสั่ง คสช.'

'ภูมิใจไทย' ยื่นร่างกฎหมายรื้อคำสั่ง คสช. ลั่นไม่ได้ตำหนิ ชี้บางฉบับมีความจำเป็นในการปกครอง ขอเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ. ให้ดูดีในสายตาต่างชาติ