ทุบสถิติต่อเนื่อง 'พาณิชย์' เผยเงินเฟ้อมี.ค.65เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี

“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อมี.ค.65 เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง หลังทำสถิติไปแล้วเมื่อก.พ.ที่ผ่านมา เหตุได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าไฟ และอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดแนวโน้มเม.ย.มีความเป็นไปได้ที่สูงต่อ หลังผลกระทบจากสงคราม การแซงชัน ก๊าซหุงต้ม น้ำมันขึ้น ยังเป็นปัจจัยกดดัน พร้อมปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 65 ใหม่เป็น 4-5%

5 เม.ย. 2565 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมี.ค.2565 เท่ากับ 104.79 เทียบกับก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 0.66% เทียบกับเดือนมี.ค.2564 เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีมาแล้วเมื่อเดือนก.พ.2565 ที่ผ่านมา ที่สูงขึ้น 5.28% ส่วนเงินเฟ้อรวม 3 เดือนปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.75% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2565 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2564 และรวม 3 เดือนเพิ่มขึ้น 1.43%

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16% อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 4.15% ผลไม้สดบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยหอม ลด 3.27% การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ลด 0.89% และเครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดสตรีและบุรุษ ลด 0.18%

ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 280 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป เนื้อสุกร ไข่ไก่ อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำประปา เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ เช่น ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 91 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน ขิง ค่าธรรมเนียมการศึกษา ถั่วฝักยาว ค่าเช่าบ้าน กล้วยหอม และผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง)

นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.2565 ถ้าดูจากตัวเลขในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยม.ค.เพิ่มขึ้น 3.23% ก.พ.เพิ่ม 5.28% และมี.ค.เพิ่ม 5.73% มีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น และยังมีสงครามคู่ขนาน ที่หลายประเทศคว่ำบาตร รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของก๊าซหุงต้ม ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และต้นทุนสินค้าหลายรายการที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรก สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ โดยปรับจากเดิม 0.7-2.4% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเมื่อเดือนพ.ย.2564 ที่ยังไม่มีภาวะสงคราม แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน ปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยน จึงปรับประมาณการใหม่เป็น 4-5% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง

สำหรับความกังวลที่จะเกิดสถานการณ์ Stagflation ที่เศรษฐกิจตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์โชว์ Soft Power อาหารไทย กินกับ 'ข้าวไทย'

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำทัพประชาสัมพันธ์ข้าวพรีเมียม ส่งเสริม Soft Power อาหารไทย ในงานประชุมข้าวนานาชาติ ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมค้าข้าวทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 400 ราย และใช้โอกาสนี้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าวไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 17 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตและการค้าข้าว ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าข้าวระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารเวียดนามในฐานะผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลก

สนค. เผยอาเซียนเนื้อหอม แนะเร่งเตรียมพร้อมทุกมิติ ดึงลงทุนในไทย

สนค. เผยว่า FDI ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยปี 2565 ไทยมีมูลค่า FDI เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน หดตัวร้อยละ 31.5 ขณะที่มูลค่า FDI ของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในไทยยังมีทิศทางที่ดีจากการขยายตัวถึงร้อยละ 72 ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมแนะให้เร่งส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก ลดอุปสรรค ขยายคู่ FTA

พาณิชย์บุกดูไบโปรโมตข้าวไทย

“กรมการค้าต่างประเทศจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้า Gulfood 2024 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาต่อเนื่องตลอดงาน”

ส่งออกอาเซียนพุ่ง! ใช้สิทธิฯ FTA สูงสุดตลอดปี 2566

กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ตลอดทั้งปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม มีมูลค่ารวม 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอันดับที่หนึ่งที่มีการใช้สิทธิฯ เป็นตลาดอาเซียน ตามด้วยอาเซียน - จีน ไทย - ญี่ปุ่น ไทย - ออสเตรเลีย และอาเซียน – อินเดีย

กสิกรฯ ชี้ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด มอง กนง. มีสิทธิ์ลดดอกเบี้ย

เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนม.ค. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 35 เดือนที่ -1.11% YoY โดยเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ

พาณิชย์โชว์ยอดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุเป้า 8.76 ล้านตัน 

กรมการค้าต่างประเทศสรุปตัวเลขส่งออกปี 2566 ที่ 8.76 ล้านตัน พร้อมคาดการณ์ส่งออกข้าวปี 2567 ที่ 7.5 ล้านตัน จับตาสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวโลก และผลกระทบเอลนีโญ พร้อมเดินหน้าตามแผนส่งเสริมตลาดข้าว โดยมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ กระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งจัดงานประชุมข้าวนานาชาติในไทยที่เว้นว่างจากการจัดตั้งแต่ช่วงโควิด