ฝืนไม่ไหว ‘คลัง’ หั่นจีดีพีปี 65 เหลือโต 3.5%

ไม่ไหวอย่าฝืน!! “คลัง” ยอมหั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 3.5% รับพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำอ่วมหนัก ทุบเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทรุด ราคาพลังงานขยับขึ้นต่อเนื่อง ด้านเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุดทั้งปีคาดทะยานแตะ 5% ลุ้นส่งออกโตแกร่งช่วยหนุน ปลื้มท่องเที่ยวฟื้นตัว ปีนี้ต่างชาติแห่เข้าไทย 6.1 ล้านคน จับตาโควิดกลายพันธุ์-ความผันผวนเศรษฐกิจและการเงินโลกกดดันทำเงินทุนเคลื่อนย้าย หวั่นกระทบค่าเงินบาท

27 เม.ย. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อยู่ที่ 3.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-4% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 5% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5-5.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากปี 2564 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 4.3% ต่อปี ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย จำนวน 6.1 ล้านคน ขยายตัว 1,315% จากปี 2564 ที่มีจำนวนเพียง 4 แสนคน และคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้น 3.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 883%

“ในไตรมาส 1/2565 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 5 แสนคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับทั้งปี 2564 และมีการประเมินว่าภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้” นายพรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ที่ระดับ 6% สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% โดยการดำเนินนโยบายของภาครัฐจะยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 3.18 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือเม็ดเงินอีก 7.42 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก

นายพรชัย กล่าวอีกว่า การลงทุนของภาครัฐในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.6% โดยแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5%

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยในปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 99.5 ดอลล่าร์ต่อบาเรล 2. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 3. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท โดยในปี 2565 คาดว่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

4. ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ 5. ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะเห็นสัญญาณในตลาดแรงงานดีขึ้น จากการจ้างงานที่เริ่มกลับมา แต่ก็ยังไม่เต็มที่เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 โดยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อสถานการณ์การใช้จ่ายและการบริโภคของเอกชนล่าสุดที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิด-19 มีการระบาดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2563 และช่วงไตรมาส 3/2564

“กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยในส่วนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน หากสามารถยุติได้เร็ว จะอยู่ในรอบคาดการณ์เดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลในเดือน ก.ค. แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ ก็จะอยู่ในรอบคาดการณ์เดือน ต.ค. 2565” นายพรชัย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง