‘กรมทางหลวง’ ลุยตรวจโครงสร้างสะพานทั่วประเทศหวังฟื้นความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม. 34 บนถนนพระราม 2 ร่วงหล่น‘ศักดิ์สยาม’ สั่งกรมทางหลวง เร่งสร้างความมั่นใจผู้ใช้ทาง ยืนยันความปลอดภัยโครงสร้างสะพานทั่วประเทศ

5 ส.ค.2565-นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม. 34 บนถนนพระราม 2 ร่วงหล่นระหว่างการบูรณะซ่อมแซมพื้นสะพาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นั้น  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีความห่วงใยผู้ใช้ทางถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานที่อาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน จึงสั่งการให้กรมทางหลวงเร่งสร้างความมั่นใจผู้ใช้ทางในความปลอดภัยของโครงสร้างสะพานทั่วประเทศ

สำหรับกรมทางหลวงมีสะพานในความรับผิดชอบ จำนวนกว่า 17,000 สะพาน มีการตรวจสอบประเมินสภาพโครงสร้างสะพาน ตามรอบเวลา และมีมาตรฐาน ขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละชนิดของโครงสร้างสะพาน  และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า  มีการบริหารจัดการด้วยระบบบริหารงานบำรุงรักษาสะพาน (Bridge Maintenance and Management System) หรือ BMMS ซึ่งเป็นระบบจัดการข้อมูลสะพานทั่วประเทศ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2554  และปรับปรุง Update อยู่เสมอเป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดสะพาน กระบวนการตรวจสอบสภาพโครงสร้างในแต่ละส่วน วิเคราะห์และประเมินผลด้านการให้บริการ (Condition Rating) นำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของสะพาน เพื่อใช้ในการวางแผนการซ่อมบำรุง แก้ไขปรับปรุงในระยะเร่งด่วน และระยะยาว ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานของกรมทางหลวงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยการสำรวจสภาพสะพาน นั้น

อย่างไรก็ตามจะแบ่งระดับการตรวจสอบเป็น 3 ระดับ ตามรอบระยะเวลา ได้แก่1. การสำรวจปกติ – เป็นการตรวจสอบโดยทั่วไป รอบระยะเวลา 1 – 2 ปี  2.การตรวจสอบหลัก – เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานอย่างละเอียด เพื่อทำให้รู้ถึงสภาพของสะพาน โดยผู้ตรวจสอบจะนำข้อมูลที่ตรวจสอบมาจัดวางแผนการซ่อมแซม/บำรุงรักษาให้สะพานมีระดับสภาพการใช้งานในระดับปกติ รอบระยะเวลา 7 – 10 ปี หรือเมื่อพบความเสียหายจากการตรวจสอบปกติ 

3.การตรวจสอบแบบพิเศษ – เป็นการตรวจสอบสภาพสะพานในกรณีที่สะพานมีความเสียหายหรือเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลต่อการใช้งานของสะพาน หรือกรณีสะพานที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของโครงสร้าง  ซึ่งการวินิจฉัยความเสียหายจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการเฉพาะกรณี การตรวจสอบอาจใช้การทดสอบแบบทำลาย (Destructive Testing) หรือการทดสอบแบบไม่ทำลาย (Nondestructive Testing) เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของโครงสร้าง และนำไปสู่การวางแผนงานบูรณะซ่อมแซมอย่างเป็นระบบต่อไป

นายสราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติในทุก ๆ สัปดาห์ แขวงทางหลวงทั่วประเทศ 104 แห่ง มีการตรวจสอบการใช้งานสะพานในเส้นทางหลวงที่รับผิดชอบ เพื่อให้อยู่ในสภาพแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่เป็นปกติสม่ำเสมอ โดยสะพานที่เปิดใช้งานอยู่ปัจจุบัน ได้มีสำรวจเบื้องต้นแล้ว ยืนยันว่าทุกสะพานมีความแข็งแรงใช้งานได้อย่างปลอดภัย และยังได้สำรวจ วิเคราะห์ ประเมินผล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญกรมทางหลวงในระบบ BMMS อย่างละเอียดขึ้นไปอีกตามรอบเวลา

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ทางมากยิ่งขึ้น กรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของโครงสร้างสะพานกลับรถ สะพานยกระดับ สะพานลอยข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ และอื่น ๆ บนโครงข่ายทางหลวงสายหลัก ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (Double Check) โดยจัดจ้างสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับซึ่งจะเป็นการตรวจสอบโครงสร้างสะพานทุกจุดอย่างละเอียด ตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา

อย่างไรก็ตามด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และได้สั่งการทุกโครงการก่อสร้าง ทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการซ่อมแซมขนาดเล็ก ให้ปิดกั้นการจราจรในขณะที่มีการก่อสร้างหรือซ่อมแซมสะพานทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้ทางและประชาชน ในการสัญจรบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้หากประชาชนผู้ใช้ทางพบเห็นถนนหรือสะพานชำรุดเสียหาย สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง ทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586 (โทรฟรี 24 ชั่วโมง)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเลย กรมทางหลวง เปิดพื้นที่ กางเต็นท์ ให้ประชาชนฟรี 31 จุดทั่วประเทศ

“คารม” เผย ช่วงเทศกาลปีใหม่ กรมทางหลวง เปิดให้บริการประชาชนกางเต็นท์ฟรี 31 จุด ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 จองได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทร. 1586