จัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ 10 เดือนแรกของปีงบฯ 65 ได้ เกือบ 6 พันล้าน

รองโฆษกรัฐบาล เผย จัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ 10 เดือนแรกของปีงบฯ 65 ได้ เกือบ 6 พันล้าน สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ทั้งปี สรรพากรวางระบบเพิ่มประสิทธิภาพติดตามจัดเก็บภาษี

19 ส.ค.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีติดตามผลการจัดเก็บภาษีจากการค้าดิจิทัลของผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ เริ่มจัดเก็บเมื่อ 1 ต.ค. 2564 ซึ่งกรมสรรพากรรายงานว่า จากที่ได้มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี ให้ผู้ประกอบการและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เปิดให้จดทะเบียนผ่านระบบ VAT for Electronic Service (VES) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ปัจจุบันมีมาจดทะเบียนแล้ว 138 ราย มีมูลค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์รวม 85,015 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มสะสม 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64 - ก.ค. 65) จำนวน 5,951 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ของทั้งปีงบประมาณ 2565 ที่ 5,000 ล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีการขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) กรมสรรพากรมีหน่วยงานที่ติดตามการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี ซึ่งรวมตั้งแต่การขายสินค้าทางออนไลน์ต่างๆ ไปจนถึง Youtuber, Blogger Content Creator และธุรกิจอื่น ๆ โดยได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจผู้ประกอบการหรือผู้มีเงินได้ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Data Analytics การทำ Web Scraping การทำ Text Mining เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการทำ data analytics จะบ่งชี้ผู้เสียภาษีให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำและการออกหนังสือเตือน (Notification Letter) เพื่อให้ผู้อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ที่ผ่านมาได้ช่วยให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่า 800 ล้านบาท รวมทั้งกรมฯ ยังมีการเปิดระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษีผ่าน Website on Mobile ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสำรวจแหล่งภาษี ซึ่งช่วยให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 200 ล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวถึงการทำงานในระยะต่อไปของกรมสรรพากรว่า จะมีการจัดตั้งกลุ่มงานเฉพาะกิจ (Task Force) ขึ้นมาดูแลเรื่อง e-Commerce และธุรกิจออนไลน์เป็นการเฉพาะ โดยจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ก้าวหน้าร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการค้นหาผู้อยู่นอกระบบและวิเคราะห์รายได้เพื่อให้เสียภาษีตามข้อเท็จจริงของการประกอบการ นอกจากนั้น จะมีการปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของ e-Commerce ให้สอดคล้องกับลักษณะของการประกอบการด้วย โดยอยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้ประกอบการสามารถใช้คอนโดมิเนียมเป็นสถานประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการปรับตัวการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความแน่นอน และประสิทธิภาพในการบริหาร เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้ประเทศ ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีการค้าดิจิทัลในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่น่าพอใจ อยู่สูงกว่าเป้าหมายทั้งปี ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลจะได้นำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วัชระ' ไล่บี้ ปปง. ยึดทรัพย์ 'โกฟุก ระนอง' เลี่ยงภาษีน้ำมัน สอบจนท.หากเอี่ยวต้องโดนด้วย

นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน