'แบงก์ชาติ' แจงจำเป็นขยับดอกเบี้ยหวังสกัดเงินเฟ้อร้อนแรง

“แบงก์ชาติ” แจงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหวังช่วยเบรกเงินเฟ้อร้อนแรง ยันพร้อมหยุด-ขึ้นแรงหากจำเป็น มองไม่ได้ขยับช้าเกินไป ชี้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจประเทศที่เริ่มฟื้นตัว

8 ก.ย. 2565 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” ว่า ปัจจุบันบริบทเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนไป โจทย์สำคัญในขณะนี้คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เจอจุดที่ทำให้สะดุดมากจนเกินไป โดยปัจจัยที่จะทำให้การฟื้นตัวสะดุดที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อที่หากสูงขึ้นต่อเนื่องโดยไม่ทำอะไรเลย ก็จะบั่นทอนอำนาจการซื้อ และซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกันการคาดการเงินเฟ้อของภาคธุรกิจก็จะเริ่มหลุดกรอบ ทำให้เสถียรภาพราคาและเศรษฐกิจประสบปัญหา

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เงินเฟ้อวิ่งต่อยาวเกินไปจนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางหลุดเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลกลุ่มเปราะบางควบคู่ไปด้วย อีกทั้งยังต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการเงินยังสามารถทำงานได้ปกติ โดย ธปท. ไม่อยากให้สภาพทางการเงินรัดกุมเร็วเกินไป จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ไม่อยากเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และการปล่อยสินเชื่อเยอะจนเกินไปจนทำให้การฟื้นตัวไม่เกิดขึ้น

“เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้ ก็ต้องมาดูว่านโยบายที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เมื่อเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะดิ่งก็น้อยลง แต่ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อกลับสูงขึ้น ดังนั้นโฟกัสของนโยบายก็ต้องข้ามไปดูที่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเหมาะสมแล้วที่จะปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเป็นภาพของการถอนคันเร่งซึ่งเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จึงเป็นที่มาของการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุดที่ปรับขึ้น 0.25% นั่นเพราะเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจะต้องปรับ จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยการปรับก็จะพิจารณาตามสถานการณ์ พร้อมหยุดหากจำเป็นต้องหยุด และพร้อมขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นหากจำเป็น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. เน้นย้ำต่อตลาดเสมอว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายประเทศจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง แต่เพราะบริบทของเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากต่างประเทศ โจทย์ของไทยคือทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้น ไม่ได้ร้อนแรงแบบของต่างประเทศ ขณะเดียวกันบริบทด้านเงินเฟ้อก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้นนโยบายการเงินของไทยจึงไม่ควรเหมือนของต่างประเทศ แต่ควรทำให้เหมาะกับบริบทของตัวเองมากกว่า

นอกจากนี้ ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไปเมื่อเทียบกับบริบทของเศรษฐกิจ เพราะหากดูทุกประเทศที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) เข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของไทยเป็นประเทศเดียวที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่กลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปลายปีนี้หรือต้นปี 2566ขณะเดียวกันมองว่าตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3% ขณะที่ปี 2566 น่าจะเป็นประมาณ 4% โดยมองเห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับอนาคต ธปท.จะพยายามปูรากฐานนโยบายให้เอื้อต่อการก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปอย่างสง่า ซึ่งมี 2-3 เรื่องต้องคำนึงถึง โดยต้องเกาะกระแสของโลก ได้แก่ 1.กระแสดิจิทัล ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง เพราะนวัตกรรมบางอย่างอาจสร้างประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องหาจุดสมดุล นวัตกรรมอะไรที่ไม่สร้างประโยชน์ สร้างความเสี่ยงก็ไม่เอา เช่น การนำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้ชำระเงิน เป็นต้น 2.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ทันการณ์

3.หนี้ครัวเรือน ปัญหาที่อยู่มานาน เพิ่มขึ้นมาในช่วง 10 ปีก่อน ไม่มียาวิเศษ จึงต้องแก้อย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาในการแก้ โดย ธปท.พยายามดู และออกหลาย ๆ มาตรการมาช่วยเหลือและ 4.การลงทุน เพราะประเทศจะก้าวต่อไปได้อย่างสง่า ต้องมีการลงทุน ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยโตแผ่ว ๆ สู้ประเทศอื่นไม่ได้ หลัก ๆ เพราะการลงทุนไทยไม่ค่อยฟื้น เมื่อเทียบจากช่วงวิกฤตปี 2540 ที่การลงทุนลดลงไป จากนั้นใช้เวลาเกือบ 20 ปี ถึงการลงทุนจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 โดยมองว่าหากเศรษฐกิจไทยจะก้าวไปอย่างสง่า เครื่องยนต์เหล่านี้ต้องทำให้ติดให้ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' รูดซิปปาก หลัง 'เศรษฐา' อ้างทุกภาคส่วนเห็นด้วยแจกเงินดิจิทัล

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ