เรียนรู้ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ สัมผัสผืนป่าใหญ่ "ชุมชนบ้านถ้ำเสือ" BCGโมเดล

12 ก.ย. 2565 – “เพชรบุรี” เมืองเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นทุนทางธรรมชาติ ป่า เขา อุทยานแห่งชาติ ทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม โบราณวัตถุ โบราณสถาน และยังเป็นแหล่งอาหารเลิศรส ด้วยความหลากหลายของทรัพยากรและฐานทุนทางธรรมชาติเหล่านี้ทำให้เพชรบุรีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ

ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำเพชรบุรีที่ซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บนพื้นที่ 4,000 ไร่แห่งนี้มีแต่ความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่ และรากไม้ที่งดงามระนาบไปกับสองฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรีอันศักดิ์สิทธิ์

สิ่งที่เห็นในวันนี้เกิดจากการร่วมใจกันของชุมชนที่ริเริ่มดำเนินงาน มีเป้าหมายร่วมกันฟื้นฟูผืนป่า เพื่อให้เป็นทุนสืบต่อไปยังลูกหลาน ผ่าน “โครงการธนาคารต้นไม้” ซึ่งถือเป็นโครงการหลักที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ตระหนักถึงมูลค่าของต้นไม้ที่ตัวเองปลูก อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เชื่ยมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ และเกิดการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐมากมายหลายองค์กร

ซึ่ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการต่อยอดในเชิงการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมไปกับการยกระดับเพื่อเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีชุมชนเป็นผู้บริหาร รวมถึงการเพิ่มองค์ความรู้ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร นำไปสู่กระบวนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านพลังงานและการจัดการขยะภายในชุมชน

“บ้านถ้ำเสือ” มีการปรับเปลี่ยนการปลูกผักผลไม้ จากที่เคยใช้สารเคมีก็เปลี่ยนมาเป็นวิถีธรรมชาติ เพื่อให้คนในชุมชนปลอดภัย โดยในปี 2548 “พี่น้อย” สุเทพ พิมพ์ศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ หัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนชุมชนในขณะนั้น ได้เริ่มต้นโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้’ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ในอนาคต เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ตะเคียนทอง ยางนา มะค่าโมง เต็ง รัง ปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้ในชุมชนกว่า 70 หลังคาเรือน มีต้นไม้ที่ลงทะเบียนอยู่กับธนาคารมากกว่า 20,000 ต้น ซึ่งต้นไม้แต่ละต้นที่อยู่ในธนาคารจะถูกขึ้นทะเบียนมีมูลค่าแตกต่างกันไปตามชนิดและพันธุ์ไม้ สามารถเป็นหลักประกันในการกู้เงิน และยังเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้

ความสำเร็จตอนนี้ไม่เพียงแค่มีต้นไม้จำนวนหลากหลายพันธุ์มากขึ้น ชาวบ้านถ้ำเสือร่วมกันสร้างธรรมชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกของเรา รวมถึงได้รับคาร์บอนเครดิตในฐานะชุมชนที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ปัจจุบันชุมชนบ้านถ้ำเสือเป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ พัฒนาต่อยอดสู่ชุมชนท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการให้บริการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้รับการยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งสู่การใช้ประโยชน์ผืนป่าเพื่อการกักเก็บคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งการเดินหน้าสู่เข้าสู่สังคม Net Zero ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องตระหนัก และให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน

สำหรับ กิจกรรมหลักในเส้นทางการท่องเที่ยวนอกจากการเรียนรู้แหล่งสะสมพันธุ์ไม้ในรูปแบบ “ธนาคารต้นไม้” แล้ว ยังสัมผัสถึงวิธีการทำอาหารสูตรบ้านถ้ำเสือที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น พัฒนาสู่เมนูของคาวและของหวาน ในการ “แปรรูปขนมทองม้วนสูตรเพชรบุรี เจ้าแรกที่ใช้ตาลโตนด” ถือเป็นการนำวิถีท้องถิ่นผสมผสานภูมิปัญญาของชุมชน มานำเสนอผ่านกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำทองม้วนแสนหอมหวานจากตาลโตนด เป็นไม้พื้นถิ่นที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัดในการทำขนมหวานให้กับเมืองเพชร จนได้รับการยกย่องขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

จากนั้นก็เป็นกิจกรรมด้านการถนอมอาหาร นำไข่เป็ดที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยงสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำภูมิปัญญาจากพืชมาสร้างคุณค่าของไข่เป็ดให้มีรสชาติที่เป็นจุดเด่นและแตกต่างไม่เหมือนใคร เป็น “ไข่เค็มอัญชัน” และในกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่า ด้วยการ “ปั้นเมล็ดพันธุ์เป็นกระสุนยิงด้วยหนังสติ๊ก เพื่อใช้สำหรับการยิงไปยังพื้นที่ป่า” เพิ่มจำนวนต้นไม้และความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ชนิดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีคุณค่าให้กับชุมชนและสัตว์ป่า ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสกิจกรรมล่องแพยางไปกับสายน้ำเพชรบุรี ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพราะเป็นสายน้ำที่มีความแตกต่างจากแม่น้ำสายอื่นที่ไหลลงปากอ่าวทางทิศเหนือ ถือได้ว่าแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสำคัญทางเศรษฐกิจของเพชรบุรี

ทั้งนี้ จากการได้พัฒนาเป็น “ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” ยังได้ขยายผลโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้การให้บริการท่องเที่ยวเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG Model ตั้งแต่เรื่องการคัดแยกขยะ ทำบ่อดักไขมัน แนวทางการลดใช้พลังงาน โดยเน้นใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้บริการในที่พัก พร้อมรณรงค์ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวในการคัดแยกขยะ เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ป่าสร้างคน...คนสร้างป่า’ ที่บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี “ป่าชุมชนที่ขจัดความจน...และฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่า ปัจจุบันมีป่าชุมชนทั่วประเทศที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จำนวน 12,801 หมู่บ้าน จำนวนป่า 11,191 แห่ง รวมเนื้อที่ 6,228,726 ไร่

พอช.-หน่วยงานภาคีร่วมสนับสนุนป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี สร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการป่า-สร้างรายได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพชรบุรี / พอช.และหน่วยงานภาคี เช่น ‘วช.-วปอ.-สสส.-กรมป่าไม้ และจ.เพชรบุรี’ ร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชน ‘บ้านถ้ำเสือ’ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี