"คลัง" หั่นจีดีพีปี 65 เหลือโต 3.4% เผยเอกชนลงทุนแผ่ว ถกมาตรการของขวัญปีใหม่

28 ต.ค. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงเหลือ 3.4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งเป็นไปตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกราคาต้นทุน แต่ก็ยังมีปัจจัยหนุนอื่น ๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.7 ล้านคน และคาดว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 10.2 ล้านคน สูงขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ 8 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีให้รายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ซึ่งเป็นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวได้สูงถึง 7.4% ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศหลายมาตรการ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 7.9% ต่อปี

ขณะที่การส่งออกในปีนี้ ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ดีที่ระดับ 8.1% สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 7.7% จากความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มคลี่คลายลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.2% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 6.5% จากสถานการณ์ราคาพลังงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย อีกทั้งภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการดูแลค่าครองชีพให้แก่ภาคประชาชน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-4.8% โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ ทำให้คาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 21.5 ล้านคน ขยายตัว 109% ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% ต่อปี ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.5% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 3.7% ต่อปี ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.9% ปรับลดลงตามราคาพลังงาน และเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%

“ปี 2566 การท่องเที่ยวยังเป็นเรือธงที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลง จากอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง แต่จากทิศทางดังกล่าว ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ และอยู่ในทิศทางเดียวกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะโต 3.7% ส่วนเรื่องเงินเฟ้อก็จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ก็จะลดปัญหาเรื่องค่าครองชีพสูงได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพมาตึ้งแต่กลางปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าค่าครองชีพของไทยไม่ได้สูงที่สุดหรือสูงมากอย่างที่เคยมีข่าว เพราะมีมาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” นายพรชัย กล่าว

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่มีความเป็นห่วงและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสฟื้นตัวได้สูงกว่าคาดการณ์ โดยต้องติดตามสถานการณ์ลูกค้าหลักอย่างจีน หากสามารถคุมโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเริ่มผ่อนคลายมาตรการให้เดินทางออกนอกประเทศได้ ก็อาจมีโอกาสให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงกว่า 21.5 ล้านคนได้ และยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก ปัญหาความเสี่ยงในภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่นิ่ง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร

นายพรชัย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการนำมาตรการช้อปดีมีคืน มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 มาดำเนินการอีกครั้ง ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่เคยทำมาแล้ว แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการหารือกับปลัดและ รมว.การคลัง โดยต้องดูถึงความเหมาะสม ขนาดและระยะเวลา

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยในปีนี้ ที่ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 33 จากเดิมที่ 28 ลดลง 5 อันดับนั้น ขอชี้แจงว่า สอดคล้องกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการปรับลดอันดับลงเช่นกัน อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ลดลงถึง 7 อันดับ โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ในส่วนของไทยยังมีปัจจัยบวกอย่างสาธารณูปโภคพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น จากการพัฒนารถไฟที่ทั่วถึง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดีขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงการบริการภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ และการกระจายรายได้มีทิศทางที่ดีขึ้น ดีขึ้น 26 อันดับมาอยู่อันดับที่ 3

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจีน ตอบรับลงทุนไทย คาดร่วมตั้งฐานผลิตมูลค่า 3 หมื่นล้าน

โฆษกรัฐบาล เผย ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจากจีนตอบรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทย คาดร่วมตั้งฐานการผลิตมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านในไทยภายในปี 2567