SCB ฟันธง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง แตะระดับ 2%

SCB EIC คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2% ในไตรมาส 2 ปี 2023

1 ธ.ค. 2565 – กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1% เป็น 1.25% ตามคาด เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2023 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่มีแนวโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 ซึ่งการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.2% 3.7% และ 3.9% ในปี 2022 2023 และ 2024 ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2023 และ 2024 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

กนง. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 2023 และ 2024 จะอยู่ที่ 6.3% 3.0% และ 2.1% เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 โดยสำหรับปี 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ 2.6% 2.5% และ 2.0% ในปี 2022 2023 และ 2024 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและภาวะการเงินยังผ่อนคลาย ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ

EIC คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 2% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีหน้า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า โดย EIC คาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 BPS) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 สู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว
ทั้งนี้ EIC มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอลงมากชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและยูโรโซนจะถดถอยต่อเนื่องจากปลายปีนี้ ทำให้อุปสงค์โลกชะลอลงมาก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

โดย EIC ประเมินว่า กนง. จะประเมินจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าการทำ Policy normalization ทั้งนโยบายการเงินและมาตรการการเงินที่จะสิ้นสุดภายในครึ่งแรกของปี 2023 เช่น มาตรการลด FIDF fee ชั่วคราวที่จะสิ้นสุดในปีนี้[1] และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนปีหน้า จะไม่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วมากจนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่มาก เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2% ซึ่งเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยช่วงเศรษฐกิจถดถอยในอดีตมากขึ้น แม้ในกรณีฐาน EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรง หรือเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวสูง จนทำให้นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเข้มงวดมากขึ้นอีก (รูปที่ 1) อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และทิศทาง monetary policy normalization ของไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ฝากบอกแบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ แต่ควรคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ปชช.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ย ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ หรือยัง ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ตนทราบมาก่อนแล้ว

'เศรษฐา' ย้ำลดดอกเบี้ย สลึงเดียวก็ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ แต่แบงก์ชาติไม่ยอมลด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และรวมทั้งปี เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9%