พาณิชย์ แจงโทษหนัก ต่างด้าวถือวีซ่าท่องเที่ยวทำธุรกิจร้านอาหารในไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงข่าวชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าขาย ที่เยาวราช ยันทำไม่ได้ เหตุเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการทำ ต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนการจดทะเบียนพาณิชย์ ก็ไม่สามารถจดได้ ย้ำจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบกระทำจริง มีความผิดทั้งกฎหมายแรงงาน และกฎหมายต่างด้าว เตือนคนไทยทำตัวเป็นนอมินี มีโทษหนัก คุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ

16 ม.ค. 2566 – นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวว่าผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราช มีข้อกังวลประเด็นชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้าขาย และเม็ดเงินจะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้คนต่างด้าวที่จะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชี 3 (19) ท้ายพระราชบัญญัติ

ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี โดยขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคล ต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินี เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนประกอบธุรกิจควบคุมตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่

“การตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใด กระทำความผิดตามกฎหมาย หรือการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจน หรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ โดยปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปี ซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบอยู่แล้ว”นายทศพลกล่าว

สำหรับกรณีที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ (จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือ อบต.ที่ร้านค้าตั้งอยู่) เป็นการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้
นายทศพลกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าว ก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย และจากนี้ กรมฯ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ

“ขอเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”นายทศพลกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” จัดกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ส่วนภูมิภาค จังหวัดนครสวรรค์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 โดยยกขบวน แฟรนไชส์ชั้นนำกว่า 40 แบรนด์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม บริการ และค้าปลีก มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรตามความสนใจและความถนัด

พาณิชย์ หารือ สตช. ร่วมมือเร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล

“พาณิชย์” เข้าพบ “บิ๊กต่าย” หารือแนวทาง มาตรการ ข้อกฎหมาย และความร่วมมือ 2 หน่วยงาน เร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล เตรียมร่วมมือทุกรูปแบบ ทั้งประสานข้อมูล ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อกำจัดอาชญากรทางเศรษฐกิจ ลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลตีปี๊บเยียวยาเอกชนใน 8 จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยานิติบุคคลใน 8 จังหวัดอุทกภัยภาคใต้ สั่งออกมาตรการขยายระยะเวลาจดทะเบียนนิติบุคคล แจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การนำส่งงบการเงินได้ หลังสถานการณ์สิ้นสุดลง

ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย

พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก

'ธนกร' หนุนรัฐบาลเร่งปราบนอมินี ธุรกิจอำพรางคนต่างด้าว แนะตั้ง KPI ประกบเห็นผลชัดใน 3 เดือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หลังจากมีคนต่างชาติลักลอบเข้ามา ประกอบธุรกิจต่างๆทั้งการขายสินค้าโรงงาน ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ หลายย่านในกรุงเทพฯ