ธปท.แจงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปี 65 แผ่ว รับหนี้เสียพุ่ง

“ธปท.” กางผลงานธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ฟันกำไร 2.36 แสนล้านบาท สินเชื่อแผ่วเหลือ 2.1% หนี้เสีย 4.99 แสนล้านบาท รับแนวโน้มอาจทยอยเพิ่ม เหตุค่าครองชีพสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น แจงหนี้บ้านขยับลดลง แต่หนี้บัตรเครดิต-หนี้ส่วนบุคคลยังต้องจับตา

21 ก.พ. 2566 -นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/2565 และปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ใน ปี 2565 ขยายตัวที่ 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อซอฟท์โลน รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยสินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์ที่ยังขยายตัวได้ที่ 2.3% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวที่ระดับ 1.7% จากไตรมาส 3/2565 ขยายตัวที่ 3.9% โดยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้อยู่ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากสินเชื่อเหล่านี้

ด้านคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เสียปรับตัวลดลงมาอยู่ที่4.99 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมที่2.73% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.77%โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ รวมไปถึงการขายหนี้ไปยัง AMC ขณะที่สินเชื่อรายย่อย สัดส่วนหนี้เสีย ยังคงอยู่ที่ระดับ2.62% เท่าเดิม โดยภาพรวมสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 3.01% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 3.25% ขณะที่สัดส่วนหนี้อื่นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งสินเชื่อรถยนต์ ขึ้นมาอยู่ที่ 1.88% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 1.66% สินเชื่อบัตรเครดิต ที่ 3.12% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.46% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 2.40% จากไตรมาส 3/2565 ที่ 2.22%

“ทิศทางหนี้เสียอาจจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เป็นหน้าผา โดยภาพรวมถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ด้วยมาตรการช่วยเหลือที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งวันนี้คิดว่ายังเพียงพอรองรับสถานการณ์ลูกหนี้ที่เปราะบาง เพราะเดิมทีเราคิดว่าเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นชัดเจน สถานการณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะดีขึ้น แต่ที่เห็นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือภาพการส่งออกที่ดูไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จากการชะลอตัวของฝั่งคู่ค้า และค่าครองชีพที่สูงอาจจะกระทบครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจะมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาดูอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ได้เน้นย้ำกับทางฝั่งเจ้าหนี้เสมอมา คือ การเน้นให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้” นางสาวสุวรรณี กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงมาอยู่ที่1.8 แสนล้าบาท ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะต่ำกว่าปี 2563-2564หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19โดยทั้งปีธนาคารพาณิชย์มีกำไร 2.36 แสนล้านบาท
นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่มโดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2565 จะปรับลดลงอยู่ที่ 86.8% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากช่วงสูงสุดในปี2564 ที่ระดับ 90.1% แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูงและยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น

ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 87.1% จากความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการฟื้นตัวได้ดีขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร และการค้า ซึ่งไตรมาส 4/2565 น่าจะได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจีนที่เปิดประเทศ จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และนอนแบงก์ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.89 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 1.49 ล้านล้านบาท โดยยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด คิดเป็น 5.22 ล้านบัญชี ในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.78 ล้านบัญชี และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 3.43 ล้านบัญชี

ขณะที่ความคืบหน้าของมาตรการฟื้นฟู (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ. 2566) พบว่า มีการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว แล้ว 2.12 แสนล้านบาท จากวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 5.98 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 6.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 442 ราย

“มาตรการช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้นั้น จะดำเนินการถึงสิ้นปี แต่หลังจากสิ้นสุดมาตรการแล้วสถาบันการเงินก็ยังดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ได้ต่อในระยะยาว โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปีนี้ ก็คงต้องกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติตามแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องเข้าสู่ภาวะปกติ โดย ธปท. ก็จะต้องไปติดตามต่อว่าเมื่อหมดมาตรการช่วยหลือแล้วหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นไหม โดยการแก้หนี้ที่สำคัญจริง ๆ คือเรื่องรายได้ หากรายได้ฟื้นตัว เชื่อว่าจะเป็นตัวที่ทำให้ความต้องการของมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้หายไปและกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะเกณฑ์ได้ออกแบบมาอย่างยืดหยุ่น จึงสามารถยืดเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา น่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้” นางสาวสุวรรณี กล่าว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ได้พยายามทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบหนัก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับต้นทุนค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตจริงนั้น ต้นทุนรายจ่ายจากดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก แต่ในอีกด้าน ธปท. ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้จุดติด ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์มากกว่า ดังนั้นลูกหนี้กลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มที่รายได้ไม่กลับมาเต็มที่เหมือนก่อนโควิด-19 แต่จากการที่จีนเปิดประเทศ น่าจะส่งผลดีกับไทย แนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ในภาพรวมจึงไม่ได้มีกลุ่มที่เป็ฯห่วงมากกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ วันหยุดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษของสถาบันการเงิน

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 84/2567 เรื่อง การกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการ

ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล จัดทำ 3 มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล จัดทำ 3 มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ที่ยังคง