รพ.วิมุต รุกตลาดเฮลธ์แคร์ ประกาศจับมือพฤกษา สร้างบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ

15 มี.ค. 2566 – นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เรียนรู้จากช่วงวิกฤติโควิดแล้วว่าเราจะกำหนดการลงทุนระยะยาวมากไม่ได้ เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใครวางแผนการลงทุนแบบตายตัวล้วนแต่อยู่ในความเสี่ยง โลกของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เราต้องเฝ้าระวัง ยกตัวอย่างเช่นเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บูร์ก (Marburg Disease) ที่ตอนนี้กําลังระบาด หากทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจต้องปรับทิศทางธุรกิจกันอีก จึงตั้งวิสัยทัศน์ “อยู่ดี มีสุข Live well Stay well” โดยให้การขยายงานต่าง ๆ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้สอดคล้องไปตามกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวิมุตปิ่นเกล้าซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เฟส โครงการคลินิกบ้านหมอวิมุตซึ่งกําลังวางแผนว่าจะเป็น Stand alone หรือ Joint venture กับพันธมิตร รวมถึงการทํา Wellness and Nursing Home ซึ่งตอนนี้เราร่วมทุนกับเจเอเอส แอสเซ็ท นอกจากนี้ เรายังมองหาภาคีเพื่อพิจารณาธุรกิจที่เขาทําอยู่ว่าเราอาจจะไปร่วมทุนกับเขาได้ไหม อาทิ โรงพยาบาลภาครัฐที่มีปัญหาเรื่องความแออัดของผู้ป่วย ซึ่งวิมุตมีศักยภาพในการช่วยแบ่งเบาส่วนนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเพื่อออกแบบโปรแกรมร่วมกัน

สำหรับในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วิมุตได้ประกาศความร่วมมือกับพฤกษา เรียลเอสเตท ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ในการผนวกบริการทางการแพทย์กับหมู่บ้านพฤกษา เพื่อสร้างระบบนิเวศเชื่อมโยงการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพอย่างไร้รอยต่อ ช่วยให้ลูกบ้านพฤกษาทุกครัวเรือนได้รับการดูแลเสมือนมีหมอประจำครอบครัว โดยวิมุตจะเปิดศูนย์ดูแลสุขภาพตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของพฤกษา เพื่อกระจายบริการทางการแพทย์มาตรฐานสูงให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“วันนี้เราเปิดบริการศูนย์ดูแลสุขภาพตรงบางนาวงแหวน ซึ่งเป็นลูกบ้านของพฤกษาอเวนิว มี 7 หมู่บ้านราว 5,000 หลังคาเรือน และเรายังให้บริการแก่ลูกค้าภายนอกอย่างลูกบ้านของนันทวันซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันด้วย รวมถึงคลินิกบ้านหมอวิมุตที่รังสิตก็เช่นกัน ก็มีลูกบ้านพฤกษามาใช้ รวมถึงลูกบ้านของแลนซิโอซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน โดยครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านนี้ก็เป็นลูกค้าของคลินิกบ้านหมอวิมุต เขามากันทั้งครอบครัว ซึ่งทางคลินิกมีหมอวิทยาศาสตร์ครอบครัวคอยช่วยดูแล” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ วิมุตเริ่มแผนการพัฒนาวิมุตสาขาปิ่นเกล้าซึ่งแบ่งเป็น 3 เฟส สถานที่ตั้งอยู่ติดกับห้างพาต้า ปิ่นเกล้า โดยทางเข้าอยู่ด้านถนนจรัญฯ ปัจจุบันกำลังเริ่มงานเฟสแรกแล้วโดยจะมีประมาณ 60 เตียง กำหนดเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2568 และกำลังวางแผนเปิดเฟส  2 กับเฟส 3 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนก็จะรองรับผู้ป่วยได้ราว 400-500 เตี ทำให้โรงพยาบาลวิมุตมีสาขาที่ถนนพหลโยธินและเทพธารินทร์ โดยปีนี้จะขยายที่ปิ่นเกล้าดังที่กล่าวไป บริษัทยังมีที่ดินผืนใหญ่ในโซนนราธิวาส จึงวางแผนว่าจะพัฒนาโครงการให้มีทั้งโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลโรคหัวใจ โรงพยาบาลระบบประสาท โรงพยาบาลผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีแผนการเปิดโรงพยาบาลในโซนสุขุมวิท โดยวิมุตมุ่งเจาะพื้นที่วงในของกรุงเทพฯ ทั้ง 5 จุดยุทธศาสตร์นี้ โดยภายในระยะ 5 ปี บริษัทฯ  ยังมีโครงการพัฒนา Wellness and Nursing Home ประมาณ 12-15 แห่งในกรุงเทพฯ ชั้นกลางหรือโซน Middle Ring ส่วนโซนกรุงเทพฯ – ปริมณฑลวงนอกก็จะมีคลินิกบ้านหมอวิมุตที่รังสิต ซึ่งกำลังทบทวนว่าจะขยายการดำเนินงานไปในทิศทางใด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิดเบื้องต้นก็คือ ในกรณีของโรงพยาบาลภาครัฐอย่างศิริราชหรือรามาฯ ซึ่งมีความแออัดมาก เราอาจจะไปช่วยลดความแออัดได้ ซึ่งในปัจจุบัน รามาฯ เริ่มมีการส่งเคสมาผ่าตัด เพราะผู้ป่วยบางเคสต้องรอห้องผ่าตัดนานยาวถึง 2-3 เดือน ซึ่งคนไข้ไม่อยากรอ เราก็ไปเสนอแพ็กเกจของเราซึ่งราคาสูสีกับทางรามาฯ โดยใช้ทีมแพทย์ของรามาฯ มาผ่าให้ และใช้ทีมของเราดูแลช่วงที่นอนพักฟื้นในโรงพยาบาล 3-5 คืน ซึ่งห้องผู้ป่วยของวิมุตกับตึกเทพรัตน์ของรามาฯ ก็มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน โดยในช่วงแรกนี้เราเริ่มจากการผ่าตัดก่อน ซึ่งมีการผ่าตัดประมาณ 7-8 ประเภทและเรากําลังขยายเป็น 20 ประเภทการผ่าตัด

นอกจากนี้ วิมุตยังมีแนวคิดจะขยายความร่วมมือจากการผ่าตัดไปสู่อายุรกรรม เพราะผู้ป่วยบางคนไป ER แต่ไม่เคยได้นอนห้องผู้ป่วย โดยได้แต่นอนอยู่ ER นั่นแหละ เพราะเตียงไม่มี เราก็จะนำเสนอว่าผู้ป่วยอายุรกรรมอาจย้ายมานอนที่วิมุต ซึ่งอยู่ในช่วงการตกลงเรื่องแพ็กเกจอยู่ โครงการนี้ให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือได้ช่วยรามาฯ ลดภาระ และวิมุตเองก็ได้ประโยชน์ ซึ่งบริษัทฯ กำลังจะมีการเพิ่มเตียงผู้ป่วยต่อไป นอกจากนี้ วิมุตกำลังมีการพูดคุยกับภาคีสุขภาพอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ

นอกจากการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ViMUT ซึ่งใช้งานได้แล้วทั้งระบบ Android และ iOS วิมุตยังมีแผนขยายช่องทางการเชื่อมต่อกับคนไข้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต่อไปจะพยายามพัฒนา Ecosystem ให้เป็น Virtual Hospital ที่แท้จริง ซึ่งจะมีเครื่องที่ติดตั้งไว้ที่บ้านผู้ป่วยเพื่อให้ทำงานเสมือนกับ Outlet ที่จะเชื่อมต่อทุกคนในบ้านกับทางโรงพยาบาล แทนที่จะติดต่อแค่ทางโทรศัพท์มือถือ โดยวิมุตกำลังพิจารณาหาเครื่องดังกล่าวโดยมีทีมที่จะสำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้

สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา เครือวิมุตมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 3-400  ล้านบาทจากปีก่อน ทำให้มีรายรับรวมประมาณ 1,000 -1,200 ล้านบาท โดยมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 3 เท่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นลูกค้าจะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) รวมถึงจีน คาดว่าในปี 2566 นี้ จะมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกเช่นกันจากการที่ประเทศต่าง ๆ เปิดเสรีการเดินทางกันหมดแล้ว โดยวิมุตตั้งเป้ารายได้ในปีนี้เกินกว่า 2,000 ล้านบาท

“เราตระหนักว่า เราตั้งเป้าทุกอย่างแบบตายตัวไม่ได้ แต่เราคาดว่าภายใน 5 ปี อัตราการเติบโตของเราน่าจะดับเบิ้ลไปได้เรื่อย ๆ  แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยปีที่ผ่านมาลูกค้าต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นประมาณสามเท่า ปีนี้เราก็มองว่าเราจะขยายฐานลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการนำเสนอจุดแข็งของเราทั้งในด้านความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย บริการระดับพรีเมียม และการเชื่อมต่อออนไลน์เพื่อมอบประสิทธิภาพทางการรักษาและความสะดวกสบาย ให้แก่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ” นพ.สมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ. เซ็นจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด 5 หมื่นคอร์ส เผยผลศึกษาช่วยลดความเสี่ยงนอนรพ.-เสียชีวิตได้ 88%

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อโควิด-19มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโควิด-19 จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล

‘อธิบดีกรมการแพทย์’ ประชุมความคืบหน้า ‘โควิด’ สู่โรคประจำถิ่น

อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ด้านการแพทย์

ผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-แดง ครองเตียงลดลง ศูนย์พักคอย รพ.สนามกทม. เตียงว่าง 95%

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เตียงทั่วประเทศมีจำนวน 178,139 เตียง เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2565 พบอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเป็น 22.7%