สิ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤตธนาคารสหรัฐล่าสุด

21 มี.ค. 2566 - อาทิตย์ที่แล้วตลาดการเงินโลกวุ่นวายและผันผวนมาก จากการสั่งปิดธนาคารพานิชย์ขนาดกลางสองแห่งในสหรัฐช่วงปลายอาทิตย์ก่อนหน้า สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้ฝากเงิน และกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ สะท้อนผ่านการปรับลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลก การแก้ไขปัญหาของทางการสหรัฐอย่างทันเหตุการณ์ทําให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ด้วยดี เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเร็วมากและให้บทเรียนที่น่าสนใจ ทั้งต้นเหตุของปัญหา การแก้ไขปัญหาของทางการสหรัฐ และประเด็นในแง่การกํากับดูแลสถาบันการเงิน วันนี้จึงเขียนให้คิดเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ เศรษฐกิจเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร คือมีขึ้นมีลง ช่วงขาขึ้นปัจจัยผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจเติบโตคืออัตราดอกเบี้ยตํ่า กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายคือการบริโภคและลงทุนผ่านการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวมากหรือใช้จ่ายเกินตัว เงินเฟ้อก็จะเร่งตัวขึ้นพร้อมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อแก้ปัญหานี้ทางการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการใช้จ่าย ลดเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจชะลอ นำเศรษฐกิจสู่ขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นแบบนี้สลับกันไป

กรณีวิกฤตธนาคารพาณิชย์สหรัฐที่เกิดขึ้นคราวนี้ก็เช่นกัน เริ่มจากผลกระทบของโควิดช่วงสองปีก่อนหน้าที่ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอ แต่สาขาเศรษฐกิจหนึ่งที่บูมมากช่วงโควิดคือเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สตาร์ทอัป ที่ขยายตัวสูงมาก เพราะคนทั่วโลกหันมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี มีการขยายการลงทุน ขยายธุรกิจ มีการจ้างงานใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยีต่อเนื่อง ทําให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีธุรกิจเหล่านี้เป็นลูกค้าได้ประโยชน์และขยายตัวดีตามไปด้วย ซึ่งทั้งสองธนาคารที่เกิดปัญหาและถูกปิดคือ ธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และธนาคาร Signature รวมถึงธนาคาร First Republic ที่ทางการสหรัฐต้องเข้าช่วยเหลือ ทั้งหมดเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคเทคโนโลยี เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารเหล่านี้คือบริษัท นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ทําให้งบดุลและเงินฝากในธนาคารเหล่านี้โตมาก

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐหลังโควิดส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เพราะการใช้จ่ายขยายตัวมาก แต่การผลิตขยายตัวตามไม่ทันจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่เป็นผลของโควิด อัตราเงินเฟ้อจึงเร่งตัวขึ้นมากและเร็ว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ เริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องคือจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจขาลง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจของธนาคารอย่าง SVB ในสามทาง

หนึ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง กระทบธุรกิจในภาคเทคโนโลยีทั้งจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นที่เพิ่มภาระในการชำระหนี้ จากผู้บริโภคที่ชะลอหรือลดการใช้จ่ายในสินค้าเทคโนโลยี และนักลงทุนที่ชะลอการลงทุน ทั้งหมดทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีชะลอตัว ส่งผลต่อธนาคารอย่าง SVB เพราะธุรกิจที่ธนาคารทํากับภาคเทคโนโลยีก็ลดลงตามไปด้วย

สอง การชะลอตัวของภาคเทคโนโลยีทําให้บริษัทหรือผู้ประกอบการในธุรกิจเทคโนโลยีต้องปรับตัวมาก การลงทุนชะงัก รายได้ลดลง ราคาหุ้นปรับลดลง บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อประหยัดรายจ่าย ทั้งหมดเป็นแรงกดดันต่อกระแสเงินสดของธุรกิจเหล่านี้ที่เคยเป็นบวก คือ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย กลายเป็นลบ คือมีรายจ่ายมากว่ารายได้ ทําให้ต้องถอนเงินที่ฝากไว้ที่ธนาคารมาใช้ เป็นเหมือนกันหมด ส่วนใหญ่ในภาคเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นบริษัท นักลงทุน และพนักงาน ทําให้กระเเสถอนเงินจากธนาคารอย่าง SVB ที่ทําธุรกิจกับภาคเทคโนโลยีมีต่อเนื่อง

สาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทําให้ราคาพันธบัตรในตลาดลดลง ธนาคาร SVB มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกว่า 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ทําให้พอร์ตการลงทุนของธนาคารขาดทุนทางบัญชีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น และจะเป็นการขาดทุนจริงที่กระทบบัญชีกําไรขาดทุน ถ้าธนาคารขายพันธบัตรที่ถือไว้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่การเกิดวิกฤต คือ เงินที่ธนาคาร SVB รับฝากจากธุรกิจเทคโนโลยีส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้นที่บริษัทและนักลงทุนนํามาฝากไว้เพื่อบริหารกระแสเงินสด แต่ธนาคาร SVB นําเงินรับฝากเหล่านี้ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพื่อหารายได้ ทําให้เมื่อการถอนเงินฝากมีมาก ธนาคารจึงไม่มีเงินสดหรือสภาพคล่องในมือเพียงพอที่จะรองรับการถอนเงิน จำเป็นต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนไว้เพื่อระดมเงินสดมารองรับ ทําให้เกิดการขาดทุนจริงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์

เมื่อตัวเลขขาดทุนมีการรายงานต่อสาธารณะในวันพุธที่ 8 มีนาคม และธนาคารชี้แจงว่ามีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อชดเชยการขาดทุน นักลงทุนก็เริ่มไม่เชื่อมั่นในฐานะการเงินของธนาคาร มีการเทขายหุ้นธนาคาร ทําให้หุ้นลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีการถอนเงินฝากโดยกลุ่มลูกค้าของธนาคารมากขึ้น ที่สำคัญบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินเริ่มแนะนําลูกค้าของตนให้ถอนเงินฝากเพื่อความปลอดภัย ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ กลายเป็นการแห่ถอนเงิน หรือ bank run จากผู้ฝากเงินที่ตื่นตระหนก ทําให้ทางการสหรัฐตัองเข้ามาปิดธนาคาร SVB เพื่อหยุดสถานการณ์และหยุดความตื่นกลัว นี่คือวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม

ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ 11-12 มีนาคม ทางการสหรัฐคงประเมินแล้วว่าการถอนเงินอาจลามไปสู่ธนาคารอื่น เช่น ธนาคาร Signature ที่ทางการได้สั่งปิดเช่นกันในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม จึงประกาศเข้าช่วยเหลือผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินที่มีธุรกรรมคงค้างอยู่กับทั้งสองธนาคารที่ถูกปิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยประกาศคุ้มครองผู้ฝากเงินทั้งหมด พร้อมตั้งวงเงินปล่อยกู้ฉุกเฉิน ที่จะให้ธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสองธนาคารดังกล่าวกู้ ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคมเช่นกัน ถือเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ทําได้เร็วและทันเหตุการณ์ และสามารถหยุดความวิตกกังวลของผู้ฝากเงินได้ แม้ภาวะตลาดในอาทิตย์ต่อมาในสหรัฐหลังการประกาศมาตรการช่วยเหลือจะยังคงผันผวน แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายลงมาก

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้บทเรียนสำคัญหลายเรื่องทั้งในแง่นโยบายและการบริหารธุรกิจธนาคาร

หนึ่ง ชัดเจนว่าประชาชนให้ความสำคัญมากกับเสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบธนาคารพานิชย์ของประเทศ และเหตุการณ์ที่อาจดูเป็นเรื่องเล็กหรือเป็นเรื่องปกติในแง่การบริหารธุรกิจ เช่น การบริหารสภาพคล่อง สามารถสร้างความอ่อนไหวในความรู้สึกของประชาชนได้ ทําให้ทั้งผู้บริหารสถาบันการเงินและผู้รับผิดชอบในหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต้องไม่ประมาท ต้องให้ความสำคัญกับความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบการเงินของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการทําหน้าที่ คือทั้งในการทําธุรกิจของสถาบันการเงินและในการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ

สอง ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สามารถสร้างผลกระทบที่มีนัยสําคัญต่อธุรกิจได้อย่างที่เห็น เป็นเรื่องที่ต้องระวัง และต้องป้องกันด้วยการมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ในกรณีที่เกิดขึ้นกับสองธนาคารในสหรัฐที่ถูกปิด ความเสี่ยงสำคัญที่ถูกมองข้ามคือความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย การบริหารเงินลงทุนและสภาพคล่อง สําหรับภาคทางการ บทเรียนสำคัญคือการมีระบบที่จะช่วยเหลือให้ธนาคารสามารถปรับตัวในเรื่องสภาพคล่องได้ก่อนปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีความจำเป็น เป็นการช่วยเหลือก่อนเกิดปัญหาเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ควรพิจารณามาก

สาม ความสำคัญของการพร้อมที่จะเข้าแก้ไขปัญหาอย่างทันเหตุการณ์โดยภาคทางการ ซึ่งชัดเจนว่าสหรัฐคราวนี้ทำได้ดี ตรงประเด็น และทันเวลา ทําให้สถานการณ์สามารถคลี่คลายได้เร็ว เป็นตัวอย่างของความพร้อมที่จะร่วมมือกันทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องตามความรับผิดชอบที่มี และได้ประโยชน์จากประสบการณ์ เครื่องมือและอำนาจทางกฎหมายที่มี สนับสนุนโดยความเข้าใจในความจำเป็นของสถานการณ์ของฝ่ายการเมือง ทําให้ทุกอย่างคลี่คลายได้เร็ว เป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ปัญหา

นี่คือบทเรียนและข้อคิดที่อยากฝากไว้.

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน