อีอีซีหนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออกโต CCP แตกไลน์ธุรกิจฟรีโซนโลจิสติกส์

3 เมษายน 2566 – การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งโลกได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการซื้อขายออนไลน์ ดังนั้นนับตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก อุตสาหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์จึงได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 43.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.87 ล้านล้านเหรียญฯ ทั่วโลก และกระแสหมุนเวียนเกือบครึ่งหนึ่งมาจากภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังหนุนให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เติบโตเพิ่มขึ้นไปด้วย

ซึ่ง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คาดว่าในปี 2566 ภาคโลจิสติกส์ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องการผ่อนปรนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว รวมถึงธุรกิจ e-Commerce ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มทางเลือกเศรษฐกิจในกิจกรรมโลจิสติกส์ และธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศ

ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

เมื่อการขนส่งสินค้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ความต้องการคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ทิศทางธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานในปี พ.ศ.2566 จะยังสามารถเติบโตได้ดี ความสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จ (Built-to-Suit) และ Warehouse Farm หรือคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการต่างชาติยังมีความสนใจจะลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่มาก บวกกับความต้องการในภาคการส่งออกของสินค้าหลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์

ดังนั้น จากปัจจัยหนุนด้านการเติบโตของภาคการผลิต การค้า และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น รวมไปถึงการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงธุรกรรมการค้าออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมขึ้นมาก ทำให้มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP ผู้ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากคอนกรีตผสมเสร็จ จึงโดดขึ้นมาเล่นในธุรกิจนี้เช่นกัน

ซึ่ง อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CCP ระบุว่า ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัทในเครือ WHALE LOGISTICS GROUP ตั้งบริษัท ชาลี ท็อป โลจิสติกส์ โซลูชั่น จำกัด เพื่อดำเนิน ธุรกิจให้บริการคลังสินค้าในเขตปลอดอากร หรือ Free Zone มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 400 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นแบ่งเป็น CCP ที่ 60% และบริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 40%”เรามองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจจากแนวโน้มความต้องการใช้คลังสินค้าในเขตปลอดอากรที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่และผู้ให้บริการยังมีไม่เพียงพอ อีกทั้งแหลมฉบังและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ยังเป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญของธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ผนวกกับปัจจัยเสริมจากภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนและการผลิตที่สำคัญของอาเซียน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้”

อาทิตย์ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมของที่ดินบนทำเลที่มีศักยภาพจำนวนมาก เพื่อพัฒนาสร้างคลังสินค้าและพื้นที่ลานจัดเก็บสินค้า รวมทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านงานคอนกรีตรูปแบบต่างๆ สำหรับก่อสร้าง คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม จึงทำให้สามารถบริหารจัดการควบคุมต้นทุนการก่อสร้างคลังสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และใช้ระยะเวลาที่รวดเร็ว

“จากความพร้อมและความเชี่ยวชาญของทั้งสองบริษัท ประกอบกับโดยธรรมชาติภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีการขยายท่าเรืออย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมถึงมีทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ประกอบกับนโยบายการปิดตัวท่าเรือคลองเตยและหันมาใช้ท่าเรือแหลมฉบังมากขึ้น เป็นปัจจัยหลักสนับสนุนให้โลจิสติกส์ในภาคตะวันออกมีการเติบโตอย่างมาก จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถขยายบริการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และผลักดันสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ” อาทิตย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ ยังกล่าวอีกว่า เขตปลอดภาษีที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินงาน เป็นปัจจัยสนับสนุนในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ และการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการตั้งโรงงานโดยมีสิทธิพิเศษที่ได้ประมาณ 2-3 เท่า เป็นตัวสนับสนุนดึงการลงทุนเข้ามาในอีอีซี การตั้่งบริษัท ชาลี อยู่ในเขตอีอีซีและใกล้ท่าเรือแหลมฉบังจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในประเทศ และจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทก้าวไปสู่เป้าหมายที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

“สิ่งสำคัญ นโยบายต่างๆ ต้องนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง การเมือง และความมั่นคงของนโยบายต้องมั่นคง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงฝากรัฐบาลขอให้รักษาหรือเพิ่มมาตรการผลักดันการลงทุนในอีอีซีให้มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อดึงการลงทุนและทำให้ประเทศเติบโตอย่างมั่นคง”

อย่างไรก็ตาม การให้บริการคลังสินค้าในเขตปลอดอากรถือเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนของ CCP ซึ่ง อาทิตย์ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเฟสแรกได้ภายในไตรมาส 4/2566 ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นั้น จะยังมุ่งเน้นกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่ปัจจุบันต้องการความรวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดต้นทุน ลดจำนวนแรงงานในการก่อสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บ่อพัก รางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำขนาดพิเศษ ท่อร้อยสายไฟใต้ดิน บล็อกปูพื้นทางเดิน บล็อกหญ้า รองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน และงาน Landscape ทั่วประเทศ

รวมถึงขยายการให้บริการธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mix) ลักษณะ Mobile Plant ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสาน สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยจัดตั้งแพลนต์ปูนชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้ รวมถึงให้บริการเช่ารถขนส่ง รถโม่ผสมคอนกรีต เพื่อสามารถเข้าพื้นที่หน้างานได้รวดเร็ว คงคุณภาพของคอนกรีตผสมเสร็จให้ลูกค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีตใน จ.หนองคาย และเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติมในเขตพื้นที่ จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ภายในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทวางงบลงทุนเครื่องจักรใหม่ รวมถึงปรับปรุงโรงงานผลิตมูลค่า 80 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ลดจำนวนแรงงาน ลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต เพิ่มความสามารถทำกำไร พร้อมทั้งเตรียมแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินงานตามเป้าของปี 2566 ที่ตั้งไว้ 2,600 ล้านบาท รักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ประมาณ 12% ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือประมาณ 1,600 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2567 พร้อมเดินหน้าประมูลงานจากทั่วประเทศเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือไว้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามผลประกอบการในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 2,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 2,377.84 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.35% และมีกำไรสุทธิ 40.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 35.40 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.17% ทั้งนี้ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น จากการเร่งตัวก่อสร้างของหลายโครงการภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ทันเป้าหมายการส่งมอบตามสัญญา

ด้าน ธีรจิตร สอนแจ้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ CEO ของกลุ่มบริษัทในเครือ WHALE LOGISTICS GROUP กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นของทั้งสองบริษัท ด้วยความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างของ CCP และความเป็นมืออาชีพในด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ครบวงจรของ WHALE LOGISTICS GROUP จะช่วยผนึกกำลังในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้สูงสุด

ทั้งนี้ บริษัท ชาลี ท็อป โลจิสติกส์ โซลูชั่น จำกัด มีแผนการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าจำนวน 2 เฟส บนที่ดินกว่า 10 ไร่ ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง (KSSP) โดยจะเป็นลักษณะคลังสินค้าในรูปแบบ Free Zone Operator ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเริ่มให้บริการและทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ประมาณ 100 ล้านบาทภายในปี 2568

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจและเพิ่มพื้นที่ให้บริการในรูปแบบการร่วมมือกับ Partner ที่มีศักยภาพ (Franchising) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

CCP เปิดแผนปี 67 ตั้งเป้ารายได้ 3,300 ล้านบาท ชูนวัตกรรมคอนกรีตสำเร็จรูปรับเทรนด์ Green Construction

CCP เปิดแผนธุรกิจปี 2567 ชูกลยุทธ์นวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปหลากหลายรูปแบบ มาตรฐานสากล