
รฟท. อัปเดตแผนจัดหารถโดยสารดีเซลราง 184 คัน มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน เล็งใช้รถไฟ EV ลุ้นสภาพัฒน์ฯ เคาะไฟเขียว ส่วนแผนจัดจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า ประเดิมเฟสแรก 946 คัน วงเงิน 2.45 พันล้าน เร่งจัดหาด่วน รับความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ทดแทนแคร่-หัวรถจักรเก่า
27 มิ.ย. 2566 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงโครงการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการเดินทางให้กับประชาชนว่า ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี โดยที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการส่งข้อมูลให้สภาพัฒน์ฯ พิจารณา เบื้องต้นอาจจะเป็นการจัดหารถโดยสารดีเซลรางใหม่ในรูปแบบขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ แล้วนั้น จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ต่อไป
ขณะที่ความคืบหน้าแผนการจัดหารถดีเซลราง 182 คันในอนาคตนั้น รฟท.อยู่ระหว่างการทบทวน และดำเนินการให้รอบคอบในหลายมิติ พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่าในปัจจุบัน อาทิ รถไฟ EV เนื่องจากมีความกังวลว่า หากเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เรื่องดังกล่าว จะไม่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการล่าช้า ส่วนรูปแบบวิธีการจัดหาว่า จะลงทุนเอง หรือเช่า-ซื้อนั้น ได้มีการหารือนอกรอบกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า มีวิธีการใดบ้างที่ไม่ต้องกู้ และเป็นการหาประโยชน์ร่วมกัน ส่วนจะเป็นการร่วมทุนหรือไม่นั้น ยังไม่ได้มีการหารือในประเด็นนี้
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาทนั้น ตามที่การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ในการประชุมบอร์ด รฟท.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา บอร์ด รฟม.ได้มีคำถามใน 2 ประเด็น คือ 1.เหตุใดวงเงินเท่าเดิม แต่ได้จำนวนโบกี้น้อยลง ซึ่ง รฟท.ได้ให้เหตุผลว่าเกิดจากภาวะอัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไป
2.กรณีที่บอร์ด รฟท. ได้เสนอแนะว่า ให้แบ่งการจัดหาออกเป็นระยะ (เฟส) นั้น ประเด็นนี้ รฟท.ได้ชี้แจงว่า รฟท.ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยแบ่งออกเป็นเฟสแล้ว กล่าวคือ การจัดหา บตท. ดังกล่าว ตามแผนมีความต้องการประมาณ 2,700 คัน ซึ่งในเฟสแรก จึงได้จัดหา จำนวน 946 คัน เนื่องจากการขนส่งสินค้าในประเทศไทยมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น รฟท.จึงจำเป็นที่จะต้องจัดหาเร่งด่วน เพื่อให้รองรับปริมาณความต้องการ อย่างไรก็ตาม รฟท.จะนำเสนอรายละเอียดโครงการฯ จัดซื้อฯ ไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนที่จะเสนอ ครม. ชุดใหม่อนุมัติต่อไป
รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า สำหรับการจัดหาแคร่สินค้าจำนวน 946 คันนั้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์แผนฟื้นฟู รฟท. โดยเป็นการนำมาทดแทนของเก่าที่มีสภาพชำรุด และขยายการรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางรางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้จาก ธุรกิจสินค้ามีกำไรที่ดีมากกว่าด้านผู้โดยสาร แต่ รฟท.มีแคร่สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในหลายเส้นทาง รวมถึงการจัดหาหัวรถจักรเข้ามา ภาพรวมจะทำให้ขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มและสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟท.
ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบรูปแบบการจัดหาระหว่างวิธีการซื้อของอะไรจำนวน 946 คัน กับรูปแบบการเช่าพร้อมกับซ่อมแซมบำรุงรักษาจำนวน 860 คัน โดยพบว่า ในการจัดซื้อมีราคาเฉลี่ยคันละ 2.6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วย เงินลงทุนวงเงิน 2,459.97 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 1,771.33 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุง 4,318.52 ล้านบาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,549.83 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อปี 244.28 ล้านบาท ส่วนกรณีเช่าดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาในอัตราค่าเช่าวันละ 1,300 บาทต่อคัน และ 2,250 บาทต่อคัน จะมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการระยะ 30 ปี ประมาณ 12,242.1 ล้านบาท และ 21,188.25 ล้านบาทตามลำดับ หรือเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 360.06 ล้านบาท และ 623.18 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟท. จ่อลงนามไฮสปีด ไทย-จีน สัญญา 4-5 ยันเปิดใช้ปี 71
“การรถไฟฯ” เล็งลงนามไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 4-5 งานโยธา “บ้านโพ-พระแก้ว” มูลค่า 1.03 หมื่นล้านภายในเดือนนี้ ส่วนสัญญา 4-1 พื้นที่ทับซ้อนเชื่อมสามสนามบิน เร่งถกเอกชน ปูแนวทาง รฟท. ลงทุนสร้างเอง คาดสรุปจบสิ้นปีนี้ ยันเปิดใช้ไฮสปีดเส้นแรกของไทยตามแผนในปี 71
ปิดตำนาน 72 ปี ‘ตำรวจรถไฟ' เตรียมยุติการปฏิบัติหน้าที่ 17 ต.ค.นี้
รฟท.ร่วมขอบคุณปิดตำนาน 72ปี กองบังคับการตำรวจรถไฟ ที่ช่วยดูแลผู้โดยสาร เตรียมยุติการปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟ-สถานีรถไฟ ทั่วประเทศ 17 ต.ค. นี้
คมนาคมลุยกู้ขบวนรถไฟตกรางเล็งเปิดเดินรถสายเหนือเย็นนี้
‘สุรพงษ์’ ลงพื้นที่ติดตามการกู้ขบวนรถไฟตกราง สั่งการเร่งซ่อมแซมทางรถไฟที่เสียหายช่วงสถานีแก่งหลวง - บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ คาดจะซ่อมแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเดินรถสายเหนือได้ตามปกติวันนี้ ย้ำประชาชนหากไม่ประสงค์เดินทางแล้วขอคืนเงินค่าตั๋วได้เต็มจำนวน
รฟท.กางแผนชงคมนาคมไฟเขียวดัน 6 โปรเจ็กต์ นำร่องรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย
รฟท.กางแผนชงคมนาคมไฟเขียว ดัน 6 โปรเจ็กต์ ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ นำร่องรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย พร้อมปลุกส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง เร่งแผนจัดหาขบวนรถไฟดีเซลราง 184 คัน คาดได้ข้อสรุปปีนี้
เฮ! คมนาคม เคาะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท นำร่องสายสีแดง-ม่วง
บอร์ด รฟท. ไฟเขียวเคาะหั่นค่าโดยสารสายสีแดงและม่วงเหลือ 20 บาทตลอดสาย จ่อชงคมนาคมสัปดาห์หน้า มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์ ย้ำทันมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนแน่นอน
บอร์ดรถไฟฯตีกลับย้ายโรงซ่อมมักกะสัน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ บอร์ด รฟท. เรื่องขอความเห็นชอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่โรงงานมักกะสันแห่งใหม่