คลังฟุ้งเศรษฐกิจพ.ค.ยังไปต่อท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนบูม

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. 2566 ยังไปต่อ บริโภคเอกชนฟื้น-ท่องเที่ยวบูม ต่างชาติแห่เข้าโต 286.3% ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคขยายตัว 12 เดือนติด สูงสุดในรอบ 39 เดือน หลังเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น คลายกังวลเงินเฟ้อสูง ส่งออกยังซึม สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรอ่วมพิษอุปสงค์โลกชะลอ

30 มิ.ย. 2566 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2566 ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย 2.01 ล้านคน ขยายตัว 286.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 19.7 ล้านคน ขยายตัว 24.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้น 29.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้น13.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 55.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 17.0% การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.1% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.1%

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ข้าว ขยายตัว 84.6%, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 55.5% และน้ำตาลทราย ขยายตัว44.3% รวมทั้งสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า แต่ยังมีหลายตลาดที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 11.4%, ตะวันออกกลาง ขยายตัว 11.2%, สหภาพยุโรป (15) ขยายตัว 9.3% และสหรัฐฯ ที่ขยายตัว4.2% นอกจากนี้ ยังมีตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวถึง97.7%

นายพรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือน พ.ค. 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.6% จากการลดลงของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมงยังคงขยายตัวได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.5 จากระดับ 95.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสำคัญด้านอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว

อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 2566 อยู่ที่ 0.53% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.55% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2566 อยู่ที่ 61.6% ต่อจีดีพี GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 220.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง