‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า

11 พ.ย.2567-รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของนโยบายกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม และคาดว่าประเทศอื่นๆโดยเฉพาะจีนก็จะตอบโต้ทางการค้า ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลง จะสะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงในปีหน้า รวมทั้งอัตราการขยายตัวจีดีพีของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ประเทศจีนอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่งหากมีการขึ้นภาษีถึง 60% ในสินค้าทุกประเทศที่นำเข้าจากจีน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3% หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่นๆมาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้

งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และ ธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้

นอกจากจะเกิดให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss) จะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา อาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯได้  การรักษาระบบการค้าเสรีของโลกต้องยึดถือระเบียบการค้าโลกที่ตกลงเอาไว้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบภายใต้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ระยะยาวแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์ และ มีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ารอบนี้ จะมีประเทศที่ได้ประโยชน์ ประเทศที่เสียประโยชน์แตกต่างกันไปตามโครงสร้างการค้าและเศรษฐกิจของประเทศนั้น รวมทั้งยุทธศาสตร์และความสามารถในการตอบสนองต่อความท้าทายนี้  นอกจากการแทรกแซงการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและการจ้างงานภายในแล้ว คาดการณ์ได้ว่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีก็อาจรุนแรงขึ้นเพื่อตอบโต้กัน จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า มาตรการทางการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ตั้งแต่ปี 2552-2567 มีจำนวนรวมมากกว่า 60,000 มาตรการ โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 18,000 มาตรการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมาตรการการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีทั้งหมด

แนวโน้มในปีหน้า การกีดกันทางการค้าโดยอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมอาจเบาลงจากรัฐบาลสหรัฐฯในยุคโดนัล ทรัมป์ ที่ผ่านมา  มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers, NTB) ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านเทคนิค (Technical barrier to Trade :TBT) ที่บังคับใช้แล้ว ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่มีการใช้มาตรการ NTB มากที่สุด คือ สหภาพยุโรป  อันดับสอง คือ สหรัฐอเมริกา 

ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบมากขึ้นภายใต้ทรัปม์ 2.0 นั้น ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับจ้างการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น ระบบการค้าโลกจะเป็นเรื่องของการต่อรองและการตอบโต้กันไปมา มากกว่าการทำกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้มาเป็นกรอบในการดำเนินการทางการค้า คือ จะเป็น Deal-Based มากกว่า Rule-Based มากขึ้น มีแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์อาจทบทวนบทบาทหรืออาจถอนตัวออกจาก Trans-Pacific Partnership และ ยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework ของรัฐบาลไบเดน ไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศใหม่เพื่อให้รับมือความท้าทายใหม่ๆ และ ไทยควรจะเตรียมตัวสำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% จากทุกประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2

คาดการณ์ได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และ ลดการพึ่งพาต่อจีนมากขึ้น เอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า สงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯในการสกัดกั้นการไล่กวดของจีน จะเพิ่มความได้เปรียบของการผูกขาด (Monopolistic Advantage) ของบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ความได้เปรียบนี้เกิดขึ้นจากสองปัจจัย หนึ่ง เป็นเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯและได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ปิดกั้นการลอกเลียนต่อยอด ข้อสอง การกระจายสินค้าไฮเทคและการสร้างแบรนด์ที่ผู้อื่นลอกเลียนได้ยาก   

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ได้ในไม่ช้า ไทยควรวางสถานะ “อิสระอย่างมียุทธศาสตร์” การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใดให้พิจารณาเป็นรายประเด็นด้วยกลยุทธที่มีกรอบยุทธศาสตร์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ สหรัฐอเมริกาพยายามรักษาสถานะในฐานะประเทศมหาอำนาจหนึ่งเดียวหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นรอบแรก และ ไม่ยอมให้ประเทศใดมีโอกาสท้าทายอำนาจนั้น  สหรัฐฯคงยุทธศาสตร์ระดับโลกยึดโยงกับประเทศพันธมิตรในยุโรปและเอเชียในการปิดล้อมบทบาทของจีนและรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ภายใต้นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นของรัฐบาลทรัมป์จะทำให้บทบาทของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลกทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จีนเองก็อ่อนแอลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน รัสเซียอ่อนแอลงจากสงครามยูเครนและปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในของรัสเซียเอง พันธมิตรประชาชาติประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนจะอ่อนกำลังลง สหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ผ่านระบบทวิภาคี โดยให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนน้อยลง แต่จะมี “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” เป็นแกนกลางของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในยุครัฐบาลทรัมป์

ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกจะเกิดขึ้น ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้เช่นเดียวที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังข้อตกลง Plaza Accord ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น  สงครามการค้าทรัมป์ 1.0 มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯจากจีน ในช่วงปี 2560 – 2566 ลดลงถึง 15% แต่จีนก็ยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 ของสหรัฐ ด้วยมูลค่าการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2568 หากมีการตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% กับจีนตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงเอาไว้ ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนจีนได้ถ้าสินค้าไทยแข่งขันได้  สงครามการค้าครั้งก่อน มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยและอาเซียน เพิ่มขึ้นสูงถึงมากกว่า 80%  ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการแสวงหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนจีน ขณะเดียวกัน งานวิจัย ของ คุณวิชญ์ยุตม์ สุขแพทย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-2566 ไทยได้สัดส่วนในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 0.5% (จาก 1.3% เป็น 1.8%) แต่ไทยสูญเสียตลาดในสหภาพยุโรปและอาเซียน 0.1% และ 0.5% ตามลำดับ ในขณะที่จีนได้ส่วนแบ่งในสหภาพยุโรปและอาเซียนกว่า 2.0% และ 5.2% แสดงให้เห็นว่าจีนมีการย้ายตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร

ไทยอาจเจอข้อเรียกร้องจำกัดปริมาณส่งออกโดยความสมัครใจ (Voluntary Export Restraints – VER) ตามยุทธศาสตร์เจรจาการค้าแบบทวิภาคีของสหรัฐฯ ไทยนั้นอยู่ในฐานะที่มีความเสี่ยงจากการที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐฯต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐอเมริกาอาจขอให้ไทยกำหนดโค้วต้าปริมาณการส่งออกของสินค้าบางประเภทของไทย และ มีสินค้าบางตัวที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ  

การกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจต่อจีน จะทำให้จีนต้องหาตลาดระบายสินค้าเพื่อรักษาระดับการผลิตและการจ้างงานภายในไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตลดลงมากเกินไป การระบายสินค้าอาจนำมาสู่พฤติกรรมทุ่มตลาดได้ โดยเราสามารถแบ่งพฤติกรรมการทุ่มตลาดออกได้เป็นสี่ลักษณะด้วยกัน คือ การทุ่มตลาดอย่างถาวร (Persistent Dumping) การทุ่มตลาดเป็นครั้งคราว (Sparodic Dumping) การทุ่มตลาดเพื่อทำลายคู่แข่ง (Predatory Dumping) และ การทุ่มตลาดเพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ (Market Penetration Dumping) ผู้ประกอบการไทยต้องประเมินว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการที่ท่านอยู่นั้นเผชิญภาวะการทุ่มตลาดแบบไหน การทุ่มตลาดในบางลักษณะนั้นจะอาศัยกลยุทธ์ของการกำหนดราคาสินค้าให้ต่างระดับกันระหว่างตลาดต่างๆที่อุปสงค์มีความยืดหยุ่นต่อราคาในขนาดต่างกัน (Price Discrimination) และ ตลาดทั้งหลายสามารถแยกออกจากกันได้ การเคลื่อนย้ายจากตลาดราคาต่ำไปยังราคาสูงอาจทำได้ยากขึ้นอีกหากมีการสร้างกำแพงกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี ตลาดระหว่างประเทศเป็นตลาดใหญ่ มีแหล่งผลิตจากประเทศต่างๆมาแข่งขันกัน อุปสงค์ในตลาดเช่นนี้จะมีความยืดหยุ่นมาก แต่ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก และผู้บริโภคมีทางเลือกน้อย เส้นอุปสงค์จะมีความยืดหยุ่นน้อย ทฤษฎีพฤติกรรมของผู้ผูกขาดจะบอกให้ทราบว่า ควรกำหนดราคาในตลาดต่างประเทศให้ต่ำกว่าราคาในตลาดภายในประเทศ ต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ของสินค้าผลิตในจีนนั้นต่ำมาก ฉะนั้นจึงสามารถกดราคาขายและทุ่มตลาดได้เต็มที่

กรณีของไทยที่เผชิญการทุ่มตลาดของสินค้าจีนนั้นเป็นการทุ่มตลาดเป็นครั้งคราว การทุ่มตลาดประเภทนี้กระทำไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของภาคการผลิตในจีนที่ต้องเผชิญกำลังซื้อภายในอ่อนแอและมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก เมื่อเผชิญการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯปีหน้า จีนก็จะส่งออกระบายสินค้ามายังภูมิภาคเอเชียและไทยเพิ่มเติม   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุสรณ์' หนุนพนันถูกกฎหมายแต่ต้องระวังผลกระทบทางสังคม

ประเมินเศรษฐกิจนอกระบบของไทย ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การจัดการเศรษฐกิจนอกระบบและนอกกฎหมาย การพนันถูกกฎหมายเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องป้องกันผลกระทบทางสังคมให้ดี

'นายกฯอิ๊งค์' สวมผ้าไหมไทย ถก 'ปธน.เปรู' ผลักดัน FTA ให้เสร็จปี 68

นายกฯ สวมผ้าไหมไทยศูนย์ศิลปาชีพ ถก 'ประธานาธิบดีเปรู' ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68 ปลี้ม Softpower หนังไทย เพลงไทย ฮิตในเปรู