กางการบ้าน "กระทรวงพลังงาน" โจทย์ใหญ่ที่รัฐมนตรีคนใหม่ต้องแก้!

25 ก.ย. 2566 -กว่า 1 เดือนที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งล่าสุดก็ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องนโยบายด้านพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับปากท้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นราคาไฟฟ้า และราคาน้ำมัน ซึ่งได้สั่งการมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และเริ่มดำเนินการลดราคาให้ได้ตามการประกาศ

โดยเรื่องแรกคือ ในการประชุม ครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ที่ประชุมเห็นชอบมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.2566 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลลดต่ำลงมาเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยจะเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 3.67 บาทต่อลิตร จากเดิมอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ราคาดีเซลลดลงเหลือ 29.94 บาทต่อลิตร ราคานี้ไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.เป็นต้นไป โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ขณะเดียวกันในที่ประชุม ครม.นัดแรกนั้นยังมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานลงเหลือหน่วยละไม่เกิน 4.10 บาทด้วย และ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม.อีกครั้งถึงข่าวดีเรื่องราคาพลังงาน ว่า มีมติจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย เริ่มตั้งแต่งวดบิลเดือน ก.ย.2566 ทันที ด้วยเหตุนี้เอง ด้าน พีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่าได้รีบหารือกับผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.โดยเร่งด่วน มีความเห็นตรงกันว่าสามารถปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาได้อีก โดย กกพ.จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

ซึ่งในส่วนนี้เอง กกพ.ได้ออกมาชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินงานแล้ว โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 มีการเชิญ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนโยบายปรับลด เรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งแบกรับภาระไปก่อน จนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง

และการปฏิบัติตามมติ ครม. จึงต้องกำหนดให้ ปตท.ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ในส่วนของ กฟผ.ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น เมื่อ ครม.มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ.จึงต้องเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าว

โดยรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ.เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.ย.2566

‘พีระพันธุ์’ ลั่นนโยบายที่ต้องเดินต่อ

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อดูแลราคาพลังงานและปากท้องประชาชนไปแล้ว แต่ก็ยังมีงานที่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพลังงานที่แข็งแรง โดย นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยภายหลังที่ได้เดินทางเข้าหารือกับ “นายพชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ว่าจำเป็นต้องหาแนวทางปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยให้เหมาะสมและเป็นธรรม

เนื่องจากพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและเป็นต้นทุนในการทำมาหากินของประชาชน ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรจะให้ประชาชนสามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยบริษัทค้าน้ำมันจะต้องไม่ค้ากำไรที่สูงเกินไป แต่ควรดำเนินธุรกิจอย่างพอเหมาะพอดี และในการทำงานมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลรายละเอียดและหาความกระจ่าง โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างราคา ถ้าหากทำถูกต้องอยู่แล้วก็ดำเนินการต่อไป แต่หากพบว่าผิดก็ต้องรีบหาทางแก้ไข เพราะหากกระทำผิดจนทำให้ราคาน้ำมันแพง และเป็นการค้ากำไรเกินควรก็เหมือนกับการปล้นประชาชน

“การเดินทางมาหารือกับอธิบดีกรมศุลกากรครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นในการหาความจริงเกี่ยวกับต้นทุนพลังงาน หลังจากนี้จะได้ดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมสรรพสามิต ที่ดูแลเรื่องภาษีน้ำมัน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่าแต่ละกระทรวง หรือแต่ละหน่วยงานทำงานแบบต่างคนต่างทำ จึงอยากให้มีการทำงานประสานกันให้มากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายที่ประชาชนเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายการเปิดนำเข้าน้ำมันเสรีที่ได้มีการพูดถึงกันนั้น ในความหมายคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สามารถจัดหาน้ำมันได้ในราคาถูกกว่าในประเทศ มาเพื่อใช้ในกิจการของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลาง อาจจะเป็นกลุ่มขนส่ง กลุ่มแท็กซี่ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำมันในกิจการของตัวเอง หากได้ใช้น้ำมันในราคาถูกกว่าการซื้อจากคนกลางก็จะทำให้สามารถลดต้นทุนลงได้ โดยการเปิดโอกาสดังกล่าวรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกไม่ให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้าเสรี เพราะตามที่ได้พูดไปแล้วคือ พลังงานเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ควรมีการผูกขาด จึงจะต้องกลับไปดูกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงพลังงานว่าเป็นอย่างไร หากมีกฎหมายห้ามไว้ก็ต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี

“นอกจากนี้ยังต้องศึกษา แนวทางลดราคาเบนซินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนั้น มุ่งเน้นดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ศึกษาว่ากลุ่มไหนควรได้รับการช่วยเหลือ ได้รับผลกระทบในช่วงนี้อย่างไรบ้าง อีกไม่นานคงได้ข้อสรุป”

ลุยศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะเดียวกัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ได้เตรียมศึกษาแนวทางการทำงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยปัจจุบันลักษณะการทำงานของกองทุนนั้นเป็นการเก็บเงินจากราคาน้ำมันที่ประชาชนเติมมาสะสมไว้ เพื่อนำมาใช้อุดหนุนในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวน นอกจากนี้ยังมีการโยกเงินจากบัญชีน้ำมันไปช่วยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จนกองทุนติดลบ โดยสถานะกองทุนล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2566 ฐานะกองทุนสุทธิติดลบอยู่ที่ 61,641 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 16,902 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 44,739 ล้านบาท

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า ในทุกวันนี้ยังเป็นกองทุนอยู่ แต่ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีก็ต้องมานั่งคิดว่ารูปแบบนี้เหมาะสมที่จะใช้ต่อไปหรือไม่ ยังไม่ได้บอกว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ทุกอย่างก็สามารถทบทวนได้หมด ตอนนี้ผมมีรูปแบบในใจแล้วแต่ยังพูดไม่ได้ ถ้าพูดไปแล้วอาจจะปั่นป่วนไปทั้งหมด เพราะของมันมีมานานแล้ว ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ของทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่อยู่กับที่ เพราะถ้าอยู่กับที่แล้วยังสร้างหนี้ขึ้นทุกวันแบบนี้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าไม่มีรูปแบบอื่นเหรอ แต่สุดท้ายเมื่อทบทวนศึกษาแล้วเห็นว่าการทำงานของกองทุนในลักษณะเดิมก็อาจจะเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดอยู่ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่ไม่คิดเลยว่ามีรูปแบบอื่นหรือเปล่า

“ผมเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่แค่มานั่งรอเซ็นงานแล้วกลับบ้าน แต่ก็ต้องมานั่งคิดด้วยว่าอะไรถึงเวลาเปลี่ยนหรือยัง ถ้าเหมาะสมแล้วก็อาจจะต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนแบบไหนสุดท้ายมันจะดีกว่าเดิมไหม ถ้าดีก็เปลี่ยน ถ้าไม่ได้ก็อาจจะต้องคงไว้แบบนี้ แต่ล่าสุดยังไม่ได้มีการสั่งงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกวันนี้ที่ทำงานก็คิดนอกกรอบอยู่เสมอ แป๊บเดียวก็ทำให้พลังงานลดราคาลงมาได้แล้ว”

เรื่องอื่นที่รัฐมนตรีคนใหม่ต้องโฟกัส

ด้านพลังงาน ไม่ใช่มีแค่เพียงการลดค่าครองชีพประชาชนเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลระบบพลังงานทั้งประเทศ รวมถึงแนวทางการพัฒนาไปสู่อนาคต เพื่อรองรับความต้องการและเป็นไปตามแนวทางของโลก ซึ่งที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ ได้มีการกล่าวถึงนโยบายของตัวเองต่อรัฐสภาว่า ได้มีโอกาสดูข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินการในหลายภาคส่วนเกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านพลังงาน ซึ่งมองว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การกำกับดูแลเรื่องพลังงานดีขึ้น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าที่เป็นปัญหาในต่างจังหวัดนั้น มองว่าควรที่จะต้องส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในพื้นที่ที่สามารถทำได้

ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม หรือสนับสนุน โดยรัฐบาลจะต้องมีการผลักดันและดูแลมากขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีพลังงานไฟฟ้าใช้ได้ทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้จะพยายามมุ่งเน้นการใช้พลังงานไฟฟ้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) การผลิตรถอีวี หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี

“ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องดูถึงเรื่องความมีเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากกรณีการสนับสนุนให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบได้ แม้ว่าการใช้รถอีวีจะช่วยเรื่องลดการใช้น้ำมันลงไป แต่ก็ต้องดูถึงความเพียงพอของไฟฟ้าด้วย จึงต้องดูถึงเรื่องไฟฟ้าเสถียรเพื่อที่จะให้การบริการและการผลิตไฟฟ้า ให้มีความเพียงพอกับความต้องการของประชาชน”

อย่างไรก็ตาม จากการประกาศนโยบายต่อรัฐสภานั้น ก็ต้องรอติดตามว่าแนวทางการดำเนินงานของ นายพีระพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะมีทิศทาง และจะมีแผนงานที่เด่นชัดออกมาอย่างไรบ้างนอกเหนือจากการดูแลราคาพลังงานกับเรื่องปากท้องประชาชน เนื่องจากภาพรวมของนโยบายพลังงานนั้นมีในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องและต้องรอการสั่งการ เพราะเป็นงานที่ต้องดำเนินตามทิศทางของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายของประเทศที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากและเป็นเรื่องที่ทุกประเทศกำลังจับตามอง

โดยที่ผ่านมา “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานเบื้องต้นถึงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ว่า ได้มีการพัฒนาแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งถือเป็นกรอบให้กับการดำเนินงานว่าจะทำอะไรบ้าง อย่างเช่น การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ 50% มีการเพิ่มประสิทธิภาพจากพลังงาน และการประหยัดพลังงาน 30% และเพิ่มการผลิตรถยนต์อีวี 30% จากยอดทั้งหมด หรือประมาณ 1.2 ล้านคันภายในปี 2030 ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

แต่ก็มีโจทย์ว่าจะทำอย่างไร โดยหลังจากนี้อาจจะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของนายพีระพันธุ์ออกมา…..

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' แย้มแนวทางรื้อโครงสร้างพลังงาน กำหนดราคาน้ำมันเอง

'พีระพันธุ์' ยังไม่ชัดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ลิตรละ 30 บาทต่อ แต่ลุยรื้อโครงสร้างพลังงานให้รัฐบาลสามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ ย้ำ เสร็จในรัฐบาลนี้

‘พีระพันธุ์’ สั่งปลัดพลังงาน จับตาผลกระทบด้านพลังงาน สงคราม ’อิหร่าน-อิสราเอล’

รมว.พลังงานเผยสั่งการให้ท่านปลัดฯและหน่วยงานทุกหน่วยของกระทรวงพลังงานติดตามรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ผลกระทบและแนวทางในการรับมือด้านพลังงานตลอดเวลาเช่นกัน

'พีระพันธุ์' สยบข่าวนายกฯสำรอง ยันไม่มีดีลอะไรทั้งนั้น ส่วนลุงตู่ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองว่า ไม่มี พูดกันไปเอง คิดกันไปเอง ไม่มี ดีลอะไรไม่มีทั้งนั้น