ส่องเศรษฐกิจปี 2565 ตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม

ผ่านมาสองปีแล้วสำหรับวิกฤตโควิด 19 และดูเหมือนจะยังไม่มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะผ่านพ้นจากวิกฤตนี้ไปได้ในปีหน้าท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.2% ในปีนี้ และ ขยายตัว 3.5-4-5% ในปี 2565 จากที่หดตัวถึง 6.1% ในปี 2563 แม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและไทยเริ่มได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของ GDP และ 20% ของการจ้างงาน) ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอัตราการเติบโต หากดูการคาดการณ์ของ IMF จะพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย ASEAN 5 ประเทศอื่น ๆ คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเกิน 3% ทั้งหมดในปีนี้ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียก็มีการเจริญเติบโตเฉลี่ยได้ถึง 3.8%

หากพิจารณาให้ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วน่าจะเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเรายังไม่อาจปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลกได้ การพยายามเพิ่มตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ เรื่องที่สำคัญมากกว่าคือ การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการก้าวข้ามช่วงของการพยายามปกป้องชีวิตและความต้องการพื้นฐาน (protecting lives and livelihoods) สู่การยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น (bettering lives) อย่างแท้จริง

การจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีทั้งการเติบโต (Growth) และความยั่งยืน (Sustainability) หลายคนอาจมองว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน แต่จริง ๆ แล้ว สองเป้าหมายนี้ส่งเสริมกันอย่างมาก กล่าวคือ หากเราไม่มีการเติบโต เราจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยั่งยืน และในขณะเดียวกันหากไม่มีความยั่งยืน เราจะไม่สามารถแน่ใจได้ว่ายุคลูกหลานของเราจะมีความเติบโตต่อเนื่องเหมือนกับยุคปัจจุบันหรือไม่ การพัฒนาอย่างยั่งยืนยังถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและความต้องการของมนุษย์

เมื่อพิจารณาเป้าหมายด้านความยั่งยืนจากรายงานความคืบหน้าของ Sustainable Development Goals (SDGs) ในเอเชียแปซิฟิกปี 2021 จะเห็นว่าการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในภูมิภาคค่อนข้างน่าเป็นห่วง กล่าวคือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศในภูมิภาคนี้จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายภายในปี 2030 และว่ากันจริง ๆ แล้วอาจจะบรรลุเป้าหมายไม่ถึง 10% ของเป้าหมายทั้งหมดในปี 2030 ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และ SDG 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life under Water) ซึ่งมีความท้าทายที่สุดเพราะนอกจากจะไม่มีคืบหน้าแล้วยังกลับถอยหลังเข้าคลองด้วยซ้ำ

เดือนพฤจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือการประชุม COP26 หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties ครั้งที่ 26 เพื่อกำหนดบทบาทของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระงับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ก่อนหน้าการประชุม ได้มีการเปิดเผยรายงานโดย Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC เตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง และระบุว่าหากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับมหภาคให้ทันท่วงที การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 หรือแม้แต่ 2 องศาเซลเซียส จะเป็นไปไม่ได้เลย

การประชุม COP 26 จัดว่ามีความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยมีข้อตกลงสำคัญ ๆ หลายประการได้แก่ การร่วมลงนามเห็นชอบการยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ของผู้นำ 141 ประเทศ คิดเป็นราว 85% ของพื้นที่ป่าทั่วโลก ข้อตกลง “Global Methane Pledge” ซึ่งมากกว่า 105 ประเทศได้เข้าร่วม เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้ได้ภายในปี 2030 แม้ประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย สัญญาข้อตกลงยุติการใช้พลังงานถ่านหินโดยผู้นำมากกว่า 40 ประเทศ แม้หลายประเทศรวมถึงประเทศจีนที่มีปริมาณการใช้ถ่านหินกว่า 54% ในปีที่แล้วไม่ได้ร่วมด้วย ที่สำคัญประการสุดท้าย คือการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NetZero) ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้ประกาศการเข้าสู่การเป็น Net zero ภายในปี 2065

การประชุม COP26 ทำให้เราได้ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับทัศนคติใหม่ในการดำเนินชีวิตให้ตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกคน รวมถึงภาคธุรกิจต้องเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายของภาครัฐ

ในส่วนของภาคประชาชน เราสามารถมีส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการยกระดับการกระทำในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ ที่คำนึงถึงผลในอนาคตและการสร้างสังคมสีเขียว เช่น การช่วยกันปลูกต้นไม้ปีละ 1 ต้น การใช้ถุงผ้าเมื่อไปซื้อของ การแยกขยะภายในบ้านที่สามารถรีไซเคิลได้และลดการผลิตขยะ การลดใช้พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้ง การลดใช้ไฟฟ้าโดยการปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถเมื่อไปที่ใกล้ ๆ เป็นต้น

ในส่วนของภาคธุรกิจ จะต้องสร้างจิตสำนึกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เนื่องจาก ESG กำลังกลายเป็นหนึ่งใน Megatrend ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

ในส่วนของนักลงทุน ต้องตระหนักว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์การลงทุนที่ได้รับความนิยมเพียงชั่วคราว แต่ควรจะต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เพื่อช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการผนวก ESG เข้ากับแผนกลยุทธ์บริษัท เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

เชื่อว่าปีใหม่นี้แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้โลดแล่นติดปีกไปกว่าประเทศอื่น ๆ แต่หากประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุนพร้อมใจกันเปลี่ยนทัศนคติ โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาล ด้วยการเพิ่มความตระหนักและการกระทำที่ส่งผลดีต่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตโควิดและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจและสังคมของเราเข้มแข็งขึ้นและยั่งยืนขึ้นได้อย่างแน่นอน

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
15 ธันวาคม 2564
ดร. เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน