ดัชนีเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น 

สนค.จับมือ ศอ.บต. แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 66 พบปรับเพิ่มขึ้น จากการเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ สังคม หลังมีรายได้เพิ่มจากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น การเมืองชัดเจน นโยบายรัฐบาลแก้ไขภาระค่าครองชีพ ส่วนด้านความมั่นคง ลดเล็งน้อย เผยคนยังกังวลเรื่องค่าครองชีพ รายได้ไม่เพียงพอ ยาเสพติด รวมถึงสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัญหาหนี้สิน

20 พ.ย. 2566 – นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.99 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสก่อนหน้านี้ ที่ระดับ 54.83 โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 55.46 จาก 55.10 ด้านสังคมมาอยู่ที่ระดับ 51.55 จาก 51.37 และด้านความมั่นคงปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 57.96 จาก 58.01 เพราะประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ ประกอบกับความชัดเจนทางการเมือง นโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาภาระค่าครองชีพ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.55 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจังหวัดอื่น ๆ รองลงมา จังหวัดสงขลา ระดับ 56.18 นราธิวาส ระดับ 53.94 ปัตตานี ระดับ 53.63 และยะลา ระดับ 53.32 ตามลำดับ

ส่วนปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาภาระค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอ และปัญหายาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ส่วนมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาครัฐ ประชาชนเกินครึ่งมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยลดค่าครองชีพได้อย่างมีนัยสำคัญ

“การจัดทำเครื่องชี้วัดดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประจำทุกไตรมาส จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่จะใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม อย่างผลสำรวจไตรมาส 3 คนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ พบว่า มีความกังวลเรื่องค่าครองชีพ รายได้ไม่เพียงพอ และปัญหายาเสพติด เป็น 3 เรื่องใหญ่ และยังมีเรื่องราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยากให้รัฐเข้ามาช่วยดูแล รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการวางแผนดำเนินการต่อไป”นายวิชานันกล่าว

นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่น และการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาตรงกับความต้องการของประชาชน โดยปัญหาที่ประชาชนยังกังวลในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้ธนาคาร หนี้นอกระบบ ซึ่ง ศอ.บต. จะทำการรวบรวมประเด็นปัญหา และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มังคุดไทย 9 เดือนแรก โกยรายได้ส่งออก 1.6 หมื่นล้านบาท จ่อขยายตลาดไปญี่ปุ่น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาข้อมูลสถานการณ์การค้ามังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทยรองจากทุเรียน และลำไย มังคุดไทยมีจุดเด่น