'คลัง' ลุ้นจีดีพีปี 67 โตแตะ 3.2% เตรียมแผนแก้หนี้นอกระบบ

”คลัง“ลุ้นจีดีพีปี 67 โตแตะ 3.2% หวังมาตรการรัฐหนุนสุดแรง พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เงินเฟ้อ ภัยพิบัติ ปักธง 28 พ.ย. แจงมาตรการแก้หนี้นอกระบบ

28 พ.ย. 2566 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ”อนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย 2567“ ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หรือสภาพัฒน์ ประมาณการไว้ที่ 3.2% แต่ทั้งนี้ ยังไม่รวมมาตรการอื่นๆที่ภาครัฐพยายามทยอยออกมา ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ เบื้องต้น ประเมินไว้ที่ 2.7% แต่หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566 ที่ออกมาล่าสุดนั้น คงจะต้องพิจารณาปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง

“จีดีพีปีหน้าที่ 3.2% ยังไม่รวมมาตรการที่จะออกมา โดยนายกรัฐมนตรีระบุอยากให้เติบโตได้ 5% เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดและทำเพิ่มเติม ว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง หลายมาตรการอยู่ระหว่างการออกแบบ ต้องดูประสิทธิภาพของมาตรการจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และต้องดูเครื่องจักรอื่นๆ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐจากงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า คาดว่าจะได้เม.ย.-ต้นพ.ค. ต้องมาติดตามการเร่งการใช้จ่ายด้วย” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะมาจากการท่องเที่ยว แม้ปัจจุบันยอมรับว่า ฟื้นตัวช้า และอาจปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทย 27-28 ล้านคน และปี 2567 ที่ 34 ล้านคน ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ ยืนยันว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในปี 2567 คาดว่าเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ 1.5% ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมองว่าหากราคาพลังงานมีแนวโน้มในระดับปัจจุบันหรืออ่อนตัวลง แรงกดดันต่อเงินเฟ้อน่าจะลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งภูมิอากาศ ภัยพิบัติ ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่ออุปทาน ราคาสินค้าเกษตร รวมถึงยังต้องติดตามเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค ด้านเสถียรภาพด้านการคลัง ยืนยันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบการเงินแข็งแกร่ง สิ้นไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าที่เกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดที่ต้องดำรงไม่น้อยกว่า 8.5% ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันอยู่ที่ 62% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่น่าห่วง

”ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์แม้แต่เอเชียแปซิฟิก เศรษฐกิจโลกยังเติบโตไม่สม่ำเสมอ ดอกเบี้ยยังสูง ทำให้ตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนผันผวนสูง ขณะที่ในประเทศยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงการผลิต ความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างประชากร เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ 20% ของประชากรเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะเกษตรและบริการ ภาคเกษตรอายุเฉลี่ยเกิน 50 ปี และเมื่อจำนวนแรงงานลดลง ฐานรายได้จึงเป็นประเด็นในเรื่องการจัดเก็บรายได้ลดลง“ นายกฤษฎา กล่าว

ขณะที่การลงทุน พบว่า การลงทุนภาครัฐของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% ต่อจีดีพีมานานกว่า 20 ปี เป็นความเสี่ยงโครงสร้างของไทย

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% ต่อจีดีพี ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนไม่สะดวก ทั้งการออม การลงทุน การจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ รัฐบาลจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และในวันที่ 12 ธ.ค. จะมีมาตรการสำหรับในระบบออกมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หนี้นอกระบบของไทยปรับลดลง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนเหลือไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ดี ในส่วนนโยบายตั้ง AMC แก้หนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งทุกอย่างจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะร่วมกันดำเนินการ ซึ่งต้องรอติดตาม โดยคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

'คลัง' ชี้ถึงเวลานโยบายการเงินช่วยบูมศก.

“คลัง” แจงขอไม่ก้าวล่วงหลัง กนง. ยังยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี แต่มองถึงเวลาแล้วที่นโยบายการเงินจะต้องเข้ามาช่วยกัน พร้อมเข็นแพ็คเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เปิดช่องผู้ประกอบการขอบีโอไอปักหมุดสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระบุยังรอ ธปท. ใจอ่อนผ่อนเกณฑ์ LTV สนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์

‘คลัง’ รับมึนเอกสารหลุดสั่งทำหนังสือชี้แจง ชี้จีดีพีไทยปีนี้โตแค่ 2.8%

“คลัง” ยันเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตจริงที่ 1.8% แจงไตรมาส 4 แผ่วสุดที่ 1.4% ก่อนทยอยฟื้นตัวปี 2567 ที่ 2.8% รับมึนเคสเอกสารหลุด ระบุไม่รู้หลุดได้อย่างไร ด้าน “ปลัดคลัง” สั่งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง