'บสย.' เตรียมผุดมาตรการแฮร์คัต ลดต้นเงินกู้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี

“บสย.” เตรียมผุดมาตรการแฮร์คัต ลดต้นเงินกู้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีกลุ่มสีฟ้า 15% หวังผ่อนน้อย เบาแรง ปิดหนี้ได้เร็ว คาดเปิดลงทะเบียนได้ช่วง ม.ค.-เม.ย. 2567 พร้อมเดินหน้าถกคลังขอ 1 แสนล้านบาท ตั้งโครงการ PGS11 กางผลงาน 11 เดือนปี 2566 ลุยอนุมัติวงเงินค้ำประกันแล้ว 1.07 แสนล้านบาท

4 ธ.ค. 2566 – นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บสย.ได้ดำเนินการช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้อย่างยั่งยืน แบ่งตามกลุ่มสี 3 สี ประกอบด้วย สีม่วง สีเหลือง และสีเขียว โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีได้รับการประนอมหนี้แล้ว 12,580 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,652 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าว บสย.ได้เสนอขยายมาตรการดังกล่าวถึงสิ้นปี 2567 แล้ว

ขณะเดียวกัน บสย.จะต่อยอดจากมาตรการดังกล่าว โดยขยายกลุ่มสีฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะเสนอคณะกรรมการบสย. (บอร์ด) เพื่อดำเนินการอนุมัติกลุ่มสีฟ้า โดยจะเป็นการนำลูกค้ากลุ่มสีเขียว ที่เป็นกลุ่มลูกหนี้มีวินัยดี มีความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเข้าโครงการสีฟ้าสำหรับมาตรการของกลุ่มสีฟ้าจะเสนอมาตรการลดเงินต้นให้ 15% (แฮร์คัทหนี้) ผ่อนน้อย เบาแรง ปิดหนี้เร็ว คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการประมาณ 50% จากกลุ่มลูกหนี้ในกลุ่มสีเขียว โดยประเมินว่าน่าจะสามารถเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการได้ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2567

สำหรับความคืบหน้าโครงการ PGS11 ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อพิจารณาโครงการดังกล่าว โดยมีความคาดหวังว่าจะได้รับวงเงินในโครงการ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวดี และแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีความต้องการใช้สินเชื่อค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมองว่าโครงการ PGS11 จะเข้าไปสนับสนุนได้

“ความตั้งใจในโครงการ PGS11 ก็อยากได้ 100,000 ล้านบาท เพราะปีหน้า จากข้อมูลที่เห็นคือ ภาคการท่องเที่ยว บริการ การบริโภคจะฟื้นตัว และเชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่ ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นหากมี บสย.เข้าไปช่วยค้ำประกัน” นายสิทธิกร กล่าว

ขณะที่โครงการ PGS10 ซึ่งได้รับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 47,000 ล้านบาท และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอขยายวงเงินอีก 3,000 ล้านบาท โดยจะเข้าไปช่วยในกลุ่ม Small Biz หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ยกให้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ

นายสิทธิกร กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 พร้อมเดินหน้าตามกรอบแผนวิสาหกิจ ตามยุทธศาสตร์องค์กรและยุทธศาสตร์เชิงรุก TCG Fast & First เดินหน้าการขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology ในเฟส 2 การพัฒนา Digital Guarantee Platform สู่ SMEs Gateway วางบทบาท กองหน้า กองกลาง และกองหลัง ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยื่น โดยกองหน้า จะมุ่งสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอีครบวงจร ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี ขณะที่กองกลาง ประกอบด้วย พัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ พัฒนา Digital Platform เป็นต้น ขณะที่กองหลัง เพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ บสย.ได้เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ TCG Sustainability BCG-ESG ภายใต้แกนหลัก ค้ำประกันสินเชื่อ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นศูนย์กลาง ทั้งเพิ่มโอกาสและเติมเต็มศักยภาพทางการเงิน เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพิ่มความรู้ เติมความเข้าใจ ยกระดับการให้คำปรึกษาทางการเงิน เพิ่มบทบาทการเข้าถึงช่วยลูกหนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บทบาทด้านการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี บสย.มีสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 29% ของยอดค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1.48 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา อนุมัติค้ำประกันวงเงินแล้ว 107,179 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ 96,461 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 442,649 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 117,597 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 811,239 ตำแหน่ง มีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีสะสมรวมกว่า 815,312 ราย โดยอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุด คือ ธุรกิจบริการ เช่น รับเหมา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ขนส่งโรงแรมและหอพัก บริการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนการค้ำ 30% วงเงิน 32,113 ล้านบาท การผลิตสินเชื่อและการค้าอื่นๆ สัดส่วนการค้ำ 11% วงเงิน 11,378 ล้านบาท เช่น การค้าวัสดุ ก่อสร้าง การค้าปลีก ขณะที่เกษตรกรรม สัดส่วนการค้ำ 10% วงเงิน 10,652 ล้านบาท เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บสย.’ ขึงเป้าค้ำประกัน 1.15 แสนล. ลุยหารือคลังอ้อนเดินเครื่อง PGS 11

“บสย.” กางผลงานปี 2566 อนุมัติค้ำประกัน พุ่ง 1.14 แสนล้านบาท อุ้มเอสเอ็มอีรายใหม่เข้าถึงสินเชื่อเฉียดแสนราย สร้างสินเชื่อในระบบ 1.24 แสนล้านบาท พร้อมขึงเป้าผลงานปี 2567 ปักธงค้ำประกัน 1.15 แสนล้านบาท แจงหารือคลังจ่อลุย PGS11

เริ่มแล้ววันนี้! บสย. ผนึก ออมสิน ช่วย SMEs รายย่อยแก้หนี้นอกระบบ

เริ่มแล้ววันนี้ ! บสย. ผนึก ธนาคารออมสิน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล แก้หนี้นอกระบบ ช่วยผู้ค้ารายย่อยอาชีพอิสระกลุ่มหนี้นอกระบบ วงเงินค้ำสูงสุด 200,000 บาทต่อราย ระยะเวลาค้ำสูงสุด10 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก

บสย. ผนึก SET เข็นโครงการอุ้มเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ

“บสย.” ผนึก SET เข็นโครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอี กาง 3 มิติช่วยเหลือ พร้อมประเมินมีเอสเอ็มอีที่มีโอกาสขยายกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ประมาณ 30% หรือราว 240,000 ราย

'บสย.' กางผลงาน 7 เดือนค้ำประกันพุ่ง 7.74 หมื่นล.

“บสย.” กางผลงาน 7 เดือน ลุยค้ำประกันสินเชื่อ 7.74 หมื่นล้านบาท อุ้มผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนแล้ว 5.77 หมื่นราย เข็นสินเชื่อในระบบพุ่ง 8.6 หมื่นล้านบาท พร้อมปักธงหนุนเอสเอ็มอีปรับธุรกิจสู่ ESG

'บสย.' โชว์ 5 เดือนค้ำประกัน 5.5 หมื่นล. รักษาการจ้างงานกว่า 4 แสนตำแหน่ง

“บสย.” กางผลงาน 5 เดือนปี 2566 โชว์ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 5.58 หมื่นล้านบาท อุ้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน 4.26 หมื่นราย สร้างสินเชื่อในระบบ 6.2 หมื่นล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 4 แสนตำแหน่ง ดันให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.3 แสนล้านบาท