'เศรษฐา' รับทุบราคาพลังงานโดยไม่สนใจกลไกตลาดจะเป็นการรัฐประหารทางเศรษฐกิจ

นายกฯ ย้ำ​ค่าพลังงานเรื่องสำคัญ​ หากทุบค่าไฟโดยไม่สนการตลาดจะกลายเป็นรัฐประหาร​ทางเศรษฐกิจ​ ขอเวลาเจราจากัมพูชาดึงขุมทรัพย์​ทับซ้อนมาใช้​ให้เร็วที่สุด แต่ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

14 ก.พ.2567- ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า พลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต​ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นต้นทุน และองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของการทำเกษตร ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ หลังจากตนเองได้รับตำแหน่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปต่างประเทศพบว่าการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีคนรุ่นใหมเข้าใจบริบท เข้าใจนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทย เข้าใจสิทธิทางด้านภาษี และความเป็นอยู่ของคนไทยดีที่สุด ซึ่งไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินที่กำลังจะเปิดใหม่อีกเฟส และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งต่างชาติตระหนักและมองว่าเป็นจุดบวกของไทย พร้อมสนใจลงทุนด้านพลังงานสะอาด

นายกฯ กล่าวว่า โดยเฉพาะรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdg index ) ของไทยอยู่อันดับที่ 30 กว่าของโลก อยู่สูงที่สุดของอาเซียน ดังนั้นไทยมีดีกว่าหลายประเทศ หลังจากนี้จะเดินทางไปพูดคุยกับประเทศในแถบยุโรป โดยเดือนมีนาคมจะเดินทางไปเยอรมนี เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกถามถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะสหรัฐและจีน ดังนั้นเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะให้ความสำคัญและตระหนักดีในเรื่องที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาได้

นายเศรษฐา​ กล่าวถึงการหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ผ่านมา ได้หารือในประเด็นชายแดน การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การดูแลแรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทย และการเจรจา​อีกเรื่องที่สำคัญ​ คือ OCA หรือพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่คนพูดถึง อาจพูดถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เราก็มีปัญหาเรื่องของชายแดน เรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ ทั้งนี้ขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่ทับซ้อนกับเรื่องของขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ และจะพยายามนำสินทรัพย์เช่นนี้ออกไปใช้ได้เร็วที่สุดในการเปลี่ยนผ่าน Brown Energy ไปสู่ Green Energy ขอให้สบายใจว่าเราจะเดินหน้ากันต่อไป โดยพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อเรื่องราคาพลังงาน

นายกฯ​ กล่าวอีกว่า เรื่องค่าพลังงาน​ มีการสอบถามกันมาว่ามีกลไกอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ค่า PPA การขอใช้กริดของโรงงานไฟฟ้า (grid electrical) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆไปยังผู้บริโภค กลไกตลาดจะไม่สามารถทำได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่โอนกลับไปจ่ายให้กับผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่น และความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

“การทุบโดยไม่ต้องสนใจกลไกการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย การลงทุนการส่งออกการจ้างงานอยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าเรามีกลไกการสนับสนุนเรื่องภาษีที่ดีแล้ว มีมาตรการต่างๆที่ทำให้คนมาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุข แต่เรื่องราคาพลังงานก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากมองในระยะยาวเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง​ มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่น​คง​ พร้อมที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเพื่อมาตั้งฐานการผลิต​” นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ กล่าว​อีกว่า มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดรถไฟฟ้าความเร็วสูงจึงไม่สร้าง​ เพราะจะสามารถประหยัดเวลาได้หลายชั่วโมง​ แต่ขอให้จินตนาการดูว่าถ้าโครงการทำไปถึงหนองคาย​ นักธุรกิจที่นั่งอยู่คงทราบว่าต้องผ่านกี่โต๊ะในการส่งสินค้าออกไปได้​ กรมศุลกากร​ กระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์​ สาธารณสุข​ และแรงงาน​ ต้องผ่านกี่โต๊ะ​ กี่แสตมป์​ หากลงทุนหลายแสนล้าน​ หรือล้านล้านก็ต้องมาเสียเวลาอยู่ดีในด่านต่าง​ 2-3 ชั่วโมง​ มองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า​

“ฟังดูแล้วมันเท่ห์ มันเก๋ แต่มันทำไม่ได้ มันยังทำไม่สำเร็จ ฉะนั้นถึงเวลาหรือยังที่เราต้องพูดคุยอย่างจริงจัง อะไรทำได้ก็ต้องทำก่อน ผมไม่อยากใช้คำว่าควิกวิน เพราะใช้ไปแล้วก็จะถูกต่อว่าคิดแต่จะควิกวินอย่างเดียวในการเปลี่ยนโครงสร้าง ฉะนั้นหลายท่านที่เป็นนักธุรกิจก็ทราบการจะเปลี่ยนโครงสร้างต้องเปลี่ยนระยะเวลานานเท่าไหร่ในสังคมไทย ดังนั้นเรื่องอะไรที่เราทำได้เราจะทำก่อน อาทิ การขนถ่ายสินค้า ผมมอบให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพแล้ว ส่วนเรื่องแลนด์บริดจ์เกี่ยวข้องด้วยในเรื่องการกระจายสินค้า การที่เขามาตั้งโรงงานหลาย 100 ล้านบาท หรือหลายล้านๆบาทนั้น เขาจะต้องมาตั้งเพื่อส่งออกสินค้า ฉะนั้นถ้ามีการส่งออกแค่ท่าเรือน้ำลึกแต่ไม่มีแลนด์บริดจ์ ก็จะทำให้คิวการส่งยาวใช้เวลานาน มีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าโลกเราไม่มีการทำโครงสร้างพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่มโหฬารรองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วโลก มันจะมีปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยสนับสนุนเรื่องนี้“นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า “มีผู้สื่อข่าวถามผมว่าสิ่งที่แปลกใจที่สุดในการเป็นนายกรัฐมนตรีคืออะไร ผมจึงตอบกลับไปว่า The amount of power I have, but most of the time the lack of it. มันมีกลไก การบริหารจัดการแผ่นดินเยอะ ซึ่งเป็นกลไกที่เราต้องการความสมัครสมานสามัคคีต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย และเป็นกลไกที่เราต้องสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการพูดคุยกันเรื่องที่เห็นต่าง เชื่อว่า นักธุรกิจที่มาร่วมงานในวันนี้จะทราบถึงความหวังดีของผมและของรัฐบาลที่จะผลักดันกลไกอุตสาหกรรมไปข้างหน้าควบคู่เรื่องของพลังงาน”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเตรียมส่งสภาฯ ถกงบฯ 68 ต้น มิ.ย. สมัยวิสามัญ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รัฐบาลมีความพร้อมใช่หรือไม่ ว่า

นายกฯรับไม่ทราบขั้นตอน 'กฤษฎีกา' ให้ศาลรธน.ชี้ขาดคุนสมบัติ 'พิชิต' ยันทุกอย่างเป็นไปตามกม.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมกิจกรรม "10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย

'เศรษฐา' จ่อจัดรายการ 'นายกฯพบประชาชน' อยากสื่อสารกับปชช.สม่ำเสมอ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมจัดรายการนายกฯพบประชาชน ว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะใช้ชื่อรายการว่าอะไร

นายกฯซวยแล้ว! ภาคปชช.อ้างคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' ยื่นป.ป.ช.เอาผิด

สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ