แห่จองบอนด์ออมทรัพย์เกลี้ยง2.5หมื่นล.

กระแสดี! “สบน.” ปลื้มยอดจองบอนด์ออมทรัพย์ฉลุย กางวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ประชาชนแห่จองเกลี้ยง ระบุผู้จองซื้อทุกรายจะได้รับ SMS แจ้งผลการจัดสรรภายในวันที่ 14 มี.ค. นี้

14 มี.ค. 2567 – นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงผลการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 11-13 มี.ค. 2567 ให้แก่ประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้มียอดจองเต็มวงเงินแล้ว โดยผู้จองซื้อทุกรายจะได้รับ SMS แจ้งผลการจัดสรรพันธบัตรจากธนาคารตัวแทนจำหน่ายภายในวันที่ 14 มี.ค. 2567

ทั้งนี้ ผลการจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 นั้น ประชาชนสามารถจองซื้อได้ตั้งแต่ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินจองซื้อ โดยเป็นการจัดสรรในรูปแบบ Small Lot First คือวิธีการจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับผู้จองซื้อทุกรายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยจะมีผู้ได้รับจัดสรรวงเงินตั้งแต่ 1,000 บาท และสูงสุดต่อรายที่รวมทุกธนาคารตัวแทนจำหน่ายแล้ว จำนวน 1,515,000 บาท โดยวงเงินที่ผู้จองซื้อไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์ ธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อทุกรายภายในวันที่ 14 มี.ค. 2567

“สบน.ขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ให้ความสนใจลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะมีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์สำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.00% ต่อปี จะเปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 18 – 19 มี.ค. 2567 โดยผู้สนใจสามารถสอบถามเงื่อนไขและวิธีการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB” นายพชร ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลังปลื้ม 'ฟิทช์' คงเครดิตเรตติ้งไทยชมเปาะเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

คลังปลื้ม “ฟิทช์” คงเรตติ้งประเทศ ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง เคาะจีดีพีปีนี้โตแจ่ม 3.7% ปี 2567 โตเพิ่มแตะ 3.8% มองท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยหนุน ชมเปาะภาคการคลังปึ๊ก ขาดดุลการคลังลดต่อเนื่อง สะท้อนรายได้ภาษีแข็งแกร่ง-หมดมาตรการดูแลโควิด-19