
หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน ถึงความชัดเจนของการแต่งตั้งผู้ที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีชื่อของ ‘นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ มาคงค้างการแต่งตั้งอยู่หลายเดือน แต่ล่าสุดหลังจากการประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ก็ได้มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. (คนที่ 16) อย่างเป็นทางการ โดยผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เรียบร้อย
และหลังจากเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ ก็เดินหน้าลุยทำงานเต็มที่ ซึ่งล่าสุดได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1. การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ
ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง
2. บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อนำไปสู่ข้อ 3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย
สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อที่ 4 ในแผนกาดำเนินงานนั้น ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที
และข้อ 5. เนื่องจาก กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”นายเทพรัตน์ กล่าว
นายเทพรัตน์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความต้องการของ กฟผ. เองในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) สำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2567 ใน 3 กรณีผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ว่า กฟผ. ได้นำเสนอแนวทางการคงค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ในอัตราปัจจุบันที่ 4.1805 บาทต่อหน่วย โดยแบ่งการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. 99,689 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวด เป็นแนวทางที่ กฟผ. รับได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ กกพ. จะสรุปก่อนประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
“ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ไม่ควรปรับไปปรับมาบ่อยๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้การคิดต้นทุนสินค้าของธุรกิจมีความแน่นอน เพราะถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้างจะคำนวณยาก ธุรกิจก็ต้องคิดค่าไฟแพงเป็นต้นทุนไว้ก่อน สุดท้ายต้นทุนนี้ก็จะถูกบวกอยู่ในราคาสินค้าส่งต่อมายังผู้บริโภค ดังนั้นอะไรที่ไม่แน่นอน คือ ความแพง และเมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นแล้วก็จะลงยาก ดังนั้นข้อเสนอของ กฟผ. จึงอยากให้ค่าไฟนิ่ง ต่ำ นาน ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย หรือปรับการคำนวณค่าเอฟทีไม่เกินปีละ 1 ครั้งก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ใช่ต้องมาลุ้นกันทุกงวด แต่สุดท้ายคนที่ต้องนำไปพิจารณา คือ กกพ. เพื่อประกาศให้ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการ”นายเทพรัตน์ กล่าว
สำหรับสภาพคล่องของ กฟผ.ในขณะนี้ถือว่าดีขึ้น หลังจากภาครัฐล็อกค่าก๊าซธรรมชาติเมื่อช่วงปลายปี 2566 โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) รับภาระส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ลดลง ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนคงค้างเหลือ 99,689 ล้านบาท ลดลงจากช่วงปลายปี 2566 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท หาก กฟผ. ได้รับคืนต้นทุนคงค้าง 7 งวด โดยค่าไฟยังคงอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามที่กำหนดชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฟผ. เตรียมจัด '70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ' สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ถือเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 กฟผ. จึงจัดทำโครงการ “70 พรรษา 7 โครงการเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 'นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์' เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16
เอ็กโก กรุ๊ป เร่งเครื่องสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับเป้า ปักหมุด Net Zero ปี 2050
เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัย 4D+1E ในยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ วว. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป