'สภาพัฒน์' จับตา! ห่วงหนี้บ้านNPLต่ำกว่า 3 ล้านพุ่ง

‘สภาพัฒน์’เผยห่วงหนี้บ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท NPL พุ่ง กระทบกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่างเพิ่มขึ้น แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย

27 พ.ค. 2567-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 4/2566 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91.3% ต่อจีดีพี มูลหนี้ 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราชะลอลง จากการที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ก่อหนี้ใหม่ปรับลดลง ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ ( NPL )ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.88% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.79% โดยสภาพัฒน์ต้องการให้ธนาคารเร่งดูแลปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย NPL

“ในส่วนของการติดตามแนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ที่สูงขึ้นจนน่าตกใจจากที่ลบ 1.7% ในไตรมาสก่อน บวกขึ้น 7% ในไตรมาสนี้ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทซึ่งการแก้ปัญหาต้องทำโดยการประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อ” นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้ รวมถึงหนี้สินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ยังมีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1 – 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยไตรมาส4/2566 มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.4% จึงอาจต้องเฝ้าระวัง และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียต่อไป โดยในส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีข้อมูลจากไตรมาสก่อนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.3% ต่อจีดีพี ขยายตัวชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท โดยหนี้เสียของ ธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น2.88%ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน

สำหรับด้านเครดิตของผู้กู้และคุณภาพสินเชื่อ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4.3% ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและต้นทุนการกู้ยืมที่สูง ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมูลค่าสูง ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 13.4% จาก 15.6% ในไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 3.5% จาก 1.9% ของไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัว 3.8% เทียบ 3.7% ในไตรมาสก่อน

สำหรับไตรมาส1/2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1%ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7 %ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2 %โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่อง ที่ 10.6%จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5.0 %ทั้งนี้ การจ้างงานสาขาการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ 0.7%ชั่วโมงการทำงานลดลงตามการลดการทำงานล่วงเวลา โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41.0 และ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ทำงานล่วงเวลาลดลงกว่า 3.6%และผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น% 11.6 การว่างงานทรงตัว อยู่ที่% 1.01 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1. การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลการสํารวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ 2.ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกองทุนฯ มีแนวโน้มจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมากถึง 2.3 ล้านคน

และ 3.การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานและ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่สูงและทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพแรงงานไม่มากนัก จึงได้รับค่าจ้างน้อย ทั้งนี้ ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ค่าจ้างจึงยังปรับตัวได้ไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะปานกลางที่ส่วนใหญ่ทำงานลักษณะงานประจำ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ไหวแล้ว 'เศรษฐา' จ่อเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ หลังรู้จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

“เศรษฐา” เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ 27 พ.ค.นี้ หลังจีดีพีไทยไตรมาสแรกโตต่ำสุดในอาเซียน

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ