หลักทรัพย์บัวหลวง มองหุ้นไทยครึ่งแรกปี 67 'Sideway' รองบรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจดันดัชนีสิ้นปีแตะ 1,603 จุด

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินหุ้นไทยครึ่งแรกปี 67 แกว่งตัว Sideway มองกรอบระยะสั้น 1,350-1,400 จุด หลังขาดปัจจัยหนุนและได้รับแรงกดดันจากกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 ปี 67 ที่คาดลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 67 ที่ 1,603 จุด หากรัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง แนะกระจายการลงทุนช่วงตลาดหุ้นผันผวนผ่าน DR01 ที่อ้างอิงดัชนีของตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และเวียดนาม รับอานิสงส์เศรษฐกิจเติบโต

20 มี.ค. 2567 – นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 67 (เดือนม.ค.- ก.พ.) อยู่ในลักษณะ Underperform เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 67 ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทน 2-5% แต่ดัชนีหุ้นไทยยังทรงตัวให้ผลตอบแทนติดลบ 2.2% โดยได้รับแรงกดดันจากงบประมาณปี 67 ที่อนุมัติล่าช้าของภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเรื่อง Naked Short Selling,High Frequency Trading (HFT) รวมถึงการ Rollover หุ้นกู้ แม้จะมีข่าวดีเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นแต่ก็เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไม่ได้มีเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด 

ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประจำไตรมาส 4 ปี 66 ที่ปรับตัวลดลง 36% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่กำไรหลักจากการดำเนินงานจริงไม่รวมกำไรพิเศษลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 13% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่กำไรลดลง คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร รวมถึงนักลงทุนยังกังวลเรื่องที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 โตเหลือ 2.2-3.2% ลดลงจากเดิมที่ 2.7-3.7%

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกปี 67 ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยอาจเคลื่อนไหวอยู่ในลักษณะ Sideway แม้ดัชนีจะผ่าน 1,400 จุด แต่ก็ไปต่อไม่ได้ เนื่องจากขาดปัจจัยหนุน โดยคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 1 ปี 67 อาจชะลอตัวลง โดยตัวเลขผลประกอบการที่ออกมาน่าจะคิดเป็น 24% ของประมาณการทั้งปี 67 จึงไม่มีแรงส่งทำให้เกิดการ Upgrade เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยจากเดิม ซึ่งสัดส่วนตัวเลขกำไรที่จะสร้าง Positive Surprise ควรต้องอยู่ราว 26-28% ขึ้นไป ถึงจะเป็นแรงส่งต่อตลาดหุ้นได้ เรามองภาพดัชนีอาจแกว่งในกรอบ1,350-1,400 จุด แต่หลังจากรัฐเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 67 อาจหนุนให้ดัชนีฟื้นตัวได้ มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 67 ระดับ 1,603 จุด บน EPS ที่ 95.7 ยกเว้นถ้าราคาน้ำมันพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะดันกำไรกลุ่มพลังงานขึ้นและหนุนตลาดโดยรวม ซึ่งโอกาสก็มีน้อยจากการบริหารซัพพลายของกลุ่มโอเปก

ปัจจัยหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และในช่วงครึ่งหลังปี 67 เมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และแนะนำให้จับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ หาก “โดนัลด์ ทรัมป์”ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้าปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียได้รับการตอบสนองด้านลบจากความกังวลสงครามเย็นระหว่างจีนอาจหนักขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของคนจีนจะช่วยดึงมูลค่าการส่งออกของไทยได้ดีขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันกำลังซื้อของคนจีนหายไปมากเพราะมีความระมัดระวังการใช้จ่ายหลังเกิดโควิด -19 และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถสร้างและส่งมอบได้ตามกำหนด

โดยความเสี่ยง คือ นักวิเคราะห์อาจปรับลดประมาณการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนลงต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 67 กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากกลุ่มพลังงาน ขณะที่กลุ่มเชื่อมโยงการบริโภคในประเทศและท่องเที่ยวยังเติบโตดี สำหรับกลุ่มที่แนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุน คือ โรงแรมและกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ รวมถึงกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ส่วนกลุ่มที่ลดน้ำหนักการลงทุน คือ ปิโตรเคมีจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (Spread) ที่ลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

ขณะที่กำลังผลิตซัพพลายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนทางดีมานด์ที่ลดลง ทำให้สเปรดยังไม่ฟื้น แม้หุ้นราคาถูกแต่ยังไม่มีปัจจัยบวกหนุน ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ดีมานด์บ้านและคอนโดช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาได้ประโยชน์จากสัดส่วนสำคัญจากกำลังซื้อชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูที่จังหวัดภูเก็ต เพราะได้ประโยชน์จากชาวรัสเซียและยูเครนที่หนีสงคราม รวมถึงคนจีนนิยมซื้อลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตมากขึ้น ส่วนกลุ่มยานยนต์ แบงก์ และอาหาร ยังคงแนะนำถือ

จากมุมมองตลาดหุ้นไทยที่มี Downside จำกัด แนะนำนักลงทุนที่คาดหวัง Capital Gains ให้กระจายน้ำหนักการลงทุนไปในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ Depositary Receipt (DR) ที่อ้างอิงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์จีน ฮ่องกง DR CN01, CNTECH01, HK01, HKCE01 หลังตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงได้รับแรงหนุนจากมาตรการของรัฐที่อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันมูลค่าราคาหุ้นถูกซื้อขายบนคาดการณ์ P/E ราว 11 เท่า และกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 67 คาดว่าจะโต 17% รวมถึง DR ที่อ้างอิงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม E1VFVN3001 และ FUEVFVND01 หลังได้แรงหนุนจากการส่งออกและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษี

การบริโภค ปัจจุบันหลักทรัพย์บัวหลวง เป็นผู้ออก DR ทั้งหมด 10 หลักทรัพย์ คือ E1VFVN3001, FUEVFVND01, STAR5001, CN01, HK01, HKCE01, CNTECH01, LVMH01, ASML01, NDX01 ครอบคลุมการลงทุนในดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์ 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และหุ้นสามัญในตลาดยุโรป

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ด้วยการจัดสรรเงินลงทุนแบบระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แนะนำบริการ “จัดพอร์ตกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ” หรือ BLS Top Funds Portfolio Auto Asset Allocation ปัจจุบันมีให้เลือกลงทุนทั้งหมด 3 ประเภท 6 พอร์ตการลงทุน โดยนับตั้งแต่ต้นปี 67 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. 67) สามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนได้สูงสุด 5.78% ส่วนผู้ที่เน้นพอร์ตความเสี่ยงปานกลาง แนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นสัดส่วน 20% และตราสารหนี้ระยะยาวเน้นกองทุนลงทุนบอนด์สหรัฐฯ 30% ทองคำ 12% ที่เหลือเป็นหุ้น โดยเน้นหุ้นสหรัฐฯ 13% หุ้นจีน 6% หุ้นเวียดนาม 10% ที่เหลือเป็นหุ้นไทย

นายชัยพร กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 67 ถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ 67 ติดลบ 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่ตัวเลขส่งออกเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาในเดือนม.ค. 67 ที่เพิ่มขึ้น 10% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 19 เดือน ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณค่อย ๆ ดีขึ้น สอดคล้องกับยอดขายของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มค้าปลีกและพาณิชย์ที่มีตัวเลขดีขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 66 ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยที่ยังคงกระจุกตัวแต่ในเมือง ขณะที่กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ค่อยดีนัก สะท้อนจากราคาพืชผลทางการเกษตรและผลผลิตภาคการเกษตร เราจึงมองการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทำให้ไทยได้รับประโยชน์กระจายอย่างทั่วถึง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 67 ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง คาดการณ์ว่ายังคงต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปีนี้รัฐบาลอาจจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 4% เมื่อเทียบ GDP และออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกอาจเติบโต 2.2% จากปีก่อนที่โต 1.3% ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งออกควรต้องโตมากกว่านี้ เราหวังว่าการส่งออกจะค่อย ๆ ฟื้นตัวหากเศรษฐกิจของจีนปรับตัวดีขึ้น และการจับจ่ายใช้สอยของคนอเมริกันเพิ่มขึ้น คาดว่าในปีนี้การบริโภคของบุคคลจะเติบโต 3.2% สำหรับการลงทุนของภาครัฐและเอกชนไม่น่าจะโตมากนัก หลังการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ทำให้เกิดการสะดุดในปีก่อน โดยตัวเลขจับจ่ายของภาครัฐหดตัวเกือบ 5% ส่วนเงินเฟ้ออาจลดลง แต่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

“แม้ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ. 67 ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง โดยคาดว่าสหรัฐฯ จะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้รวม 2 ครั้ง และแม้ตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวลงในบางจุด

แต่การว่างงานไม่ได้พุ่งสูงปัจจุบันอยู่ที่ 4% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าการประชุมกนง. วันที่ 21 ส.ค. 67 อาจปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เป็นการส่งสัญญาณในเชิงนโยบายผ่อนคลาย ปัจจุบันดอกเบี้ยไทยไม่ได้สูงและไม่มีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยมากนักเหมือนสหรัฐฯ จึงคาดว่าดอกเบี้ยจะลดเพียงครั้งเดียวในปีนี้” นายชัยพร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กูรูรู้ทุกเรื่อง! รัฐบาลแพทองธารทำทีจะตีเหนือแต่เข้าตีใต้ เย้ยพวกนักร้องจะเหี่ยวเฉาไปเอง

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ในขณะที่กองทุนในประเทศก็เข้าซื้อกันเป็นการ

บจ. มีผลประกอบการในไตรมาส 2 ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจน้ำมัน

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวดหกเดือนแรกปี 2567 มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโต ขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่ธุรกิจภาคบริการ อุปโภคบริโภค อีกทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น