ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการสำคัญในหลายๆ โครงการ ทำให้ต้องมีหน่วยงานหลักที่สำคัญ อย่างเช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มีภารกิจในการจัดทำแผนหลัก แผนแม่บท และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในระบบการขนส่งของประเทศ รวมถึงศึกษา เสนอแนะนโยบายและกำหนดมาตรการ มาตรฐานด้านการจัดระบบการจราจรทางบกให้สอดคล้องกับแผนหลักด้านการขนส่งและจราจร วิเคราะห์กลั่นกรองความเหมาะสมของแผนงาน รวมทั้งการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดย ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.เร่งผลักดันแผนงานด้านคมนาคมที่สำคัญต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม คือ ต้องพลิกโฉมระบบคมนาคมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 และปี 2568 ในกิจกรรมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร ว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน 6 โครงการ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2567 พิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว 2.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC เพื่อใช้กำกับดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
“สนข.ได้เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ. SEC เพื่อขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ จะมีการกำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เหมือนอีอีซี ปัจจุบันได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อมอบอำนาจให้ สนข.เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC โดย กพศ.จะประชุมปลายเดือน ส.ค.นี้ หลังจาก สนข.ได้รับมอบหมายจะนำร่าง พ.ร.บ. SEC รับฟังความคิดเห็นฯ จากนั้นนำความเห็นมาปรับปรุงประกอบ และสรุปนำเสนอ ครม.ภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.2567 คาดร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเดือน เม.ย.2568” ปัญญา กล่าว
3.แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (W-MAP) เพื่อพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ยกระดับบูรณาการการเดินทางกับรูปแบบอื่น เพิ่มการใช้ประโยชน์เพื่อการสัญจรและการท่องเที่ยว 4.แผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Feeder) พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ พร้อมปรับปรุงลักษณะกายภาพและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวก
5.แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (ปี 2566-2580) โดยเร่งผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย EV ภาคคมนาคม พัฒนาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และลดมลพิษ และ 6.แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยอาศัยแนวคิด Transit Oriented Development (TOD) เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ 177 สถานีทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา 8 โครงการ ได้แก่ 1.การศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก คาดจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน ส.ค.2567 ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ คาดจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปี 2568
2.การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล (Andaman Riviera) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
3.การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้มีฐานข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และข้อมูลการจราจรในเขตเมืองหลักในภูมิภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
4.การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ EEC เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนไปสู่ทางรางและทางน้ำให้เพิ่มมากขึ้น 5.การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ
6.การศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านคมนาคมแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนด้านคมนาคม รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายของผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม 7.การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
และ 8.โครงการ Landbridge ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม.ในปี 2568 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ ให้ สนข.ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573
ปัญญา กล่าวย้ำว่า มั่นใจโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยมีนักลงทุนรายใหญ่จากอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสให้ความสนใจ ขณะที่ดูไบพอร์ตเวิลด์ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีกองเรือขนาดใหญ่แต่กลับไม่มีท่าเรือของตัวเองที่ช่องแคบมะละกาเลย แถบนี้มีท่าเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ของไทยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผ่านช่องแคบมะละกา ต้องใช้ท่าเรือคนอื่น ประเมินได้ว่าสาเหตุที่ดูไบพอร์ตเวิลด์อยากได้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อมีท่าเรือของตัวเอง ตอบโจทย์สายเรือและการบริหารจัดการทางธุรกิจ ล่าสุดได้มีคณะทำงานร่วมกับไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนฯ และเตรียมหารือนัดแรก ส่วนนักลงทุนจีน แลนด์บริดจ์จะมีประโยชน์เพราะจะมีพื้นที่การขนส่ง นำเข้าส่งออกลงสู่ด้านใต้ ซึ่งจีนมีการลงทุนด้านรถไฟลงมาแล้ว
สำหรับความคืบหน้าการศึกษานั้น สนข.ศึกษาแนวคิดภาพรวมเสร็จแล้ว สรุปรูปแบบโครงการ คือ มีท่าเรือ 2 ฝั่ง มีมอเตอร์เวย์ และรถไฟเชื่อมท่าเรือ โดย สนข.ได้ศึกษาและออกแบบท่าเรือ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวงจะเป็นผู้ศึกษาออกแบบ รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการแล้ว ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ศึกษาออกแบบ รวมถึงการจัดทำอีไอเอทางรถไฟ ทั้งมอเตอร์เวย์และรถไฟจะศึกษาออกแบบเสร็จในเดือน ก.ย.ปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับไทม์ไลน์ในการขับเคลื่อนทั้งโครงการ ที่คาดว่าจะเปิดประกวดราคาช่วงปลายปี 2568 หรือไม่เกินต้นปี 2569
“การพัฒนาแลนด์บริดจ์ของไทยไม่ใช่การแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ปัญหาอยู่ที่ช่องแคบมะละกา และความเชื่อมั่นของสายเรือต่างๆ ที่จะผ่านตรงนั้น หากมีความขัดแย้งขั้วอำนาจหนักขึ้นแล้วกำหนดเรือที่จะผ่านได้ ผ่านไม่ได้ จะส่งผลกระทบธุรกิจ ดังนั้นต้องหาทางออกไว้ ขณะที่การลงทุนแบ่งเป็น 3 เฟส ตามดีมานด์ เฟสแรก 5 แสนล้านบาท มีท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ และพื้นที่หลังท่า และที่สำคัญการลงทุนจะคุ้มค่าต้องมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัดโดยรอบเพื่อเป็นตัวเสริมให้แลนด์บริดจ์มีศักยภาพมากขึ้น” ปัญญา กล่าว
นายปัญญา กล่าวว่า ยังมีงานที่จะดำเนินการศึกษาในอนาคต 3 โครงการ ได้แก่ 1.การศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงาน และระบบบริหารจัดการภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อภาคคมนาคมอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 1) เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภาคคมนาคม โดยมีแผนปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ จัดทำข้อมูลระบบการรายงาน บริหารจัดการข้อมูลภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแบบจำลอง 2.การพัฒนาระบบเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ กทม. และพื้นที่ต่อเนื่อง และ 3.การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแล และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ควง 3 รมต. ช่วยน้ำท่วมเชียงราย ห่วงทะลักอีสาน สั่ง มท. เร่งดูแล
'นายกฯอิ๊งค์' ควง 'กลาโหม-คมนาคม-มหาดไทย' บินเชียงรายช่วยน้ำท่วม ก่อนถกกลางอากาศ เร่งอพยพคนพ้นพื้นที่เสี่ยงทันที สั่ง มท. กำกับใกล้ชิดอีสาน