'คนละครึ่ง' เฟส 4 ปรับลดวงเงิน 'คลัง'อ้างเศรษฐกิจฟื้น

ครม. สั่งเดินเครื่อง คนละครึ่ง เฟส 4 อัดฉีดวันละ 150 บาทเหมือนเดิม แต่ลดวงเงินรวมเหลือ 1.2 พันบาท จากเดิม 1.5 พันบาท อ้างเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หวังช่วยกระทุ้งจีดีพีปีนี้โตเพิ่ม 0.21%

24 ม.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 มีมติรับทราบและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.45 ล้านคน วงเงินรวม 8,071 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 (กลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 หรือกลุ่มเปราะบาง) จำนวน 2.25 ล้านคน ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.พ. -30 เม.ย. 2565 รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน วงเงินรวม 1,352 ล้านบาท

3. โครงการ คนละครึ่ง ระยะที่ 4 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และสินค้าหรือบริการ ที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตรา 50% ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาท ต่อคน วงเงินดำเนินการ 3.4 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 ก.พ. – 30 เม.ย. 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 29 ล้านคน ซึ่งการร่วมจ่าย คนละครึ่ง นี้จะเป็นการช่วยเติมกำลังซื้อให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (คนเดิม) 27.98 ล้านคน จะต้องยืนยันสิทธิ์เพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์ โดยสิทธิที่เหลืออาจจะนำมาพิจารณาเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งหากยังประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป หากยืนยันสิทธิ์และใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ครั้งแรกในระยะที่กำหนดสามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่10 ก.พ. 2565 จนกว่าจะครบจำนวนประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ โดยสามารถใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565 ซึ่งช่องทางการลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 กรณี 1.กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิ์มาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com 2.กรณีประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

คุณสมบัติ

โดยคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ประชาชนที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 25 ม.ค. 2565 หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ทั้งนี้ ก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยแล้ว

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00 – 22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัครผ่าน www.คนละครึ่ง.com โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/ โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชันถุงเงินแล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย

“สำหรับวงเงินใช้จ่ายรวมที่ลดลงเหลือ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาทนั้น เนื่องจากมีการพิจารณาถึงดัชนีทางเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวเป็นลำดับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบริโภค ออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ดัชนีราคาสินค้าบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร และพลังงาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือผ่านมาตรการคนละครึ่งเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยรัฐบาลคงไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของประชาชนได้ แต่คนละครึ่งถือเป็นเรื่องของการแบ่งเบาภาระในช่วงนี้เท่านั้น ขณะเดียวกันโครงการในเฟส 3 มีประชาชนราว 1.6 ล้านคนที่ไม่ได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ในโครงการเลย” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 79,023 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.21% ต่อปี จากกรณีฐาน โดยในปีนี้คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4% อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เงินอย่างประหยัด เนื่องจากยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่ยังรอดำเนินการอยู่


ครม.อนุมัติโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 วงเงิน 8 พันล้าน เริ่ม 1 ก.พ.นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิพิฏฐ์' ชำแหละ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' กับ 'ยาเสพติด' มีคนจำนวนหนึ่งไม่นำไปซื้อข้าวสาร สบู่ ยาสีฟัน แน่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ดิจิทัล วอลเลต กับ ยาเสพติด มีรายละเอียดดังนี้

'อาคม' แจงยังไม่ต้องขยายเพดานวงเงิน มาตรา 28 แม้มีเงินเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท

“อาคม” ชี้ยังไม่จำเป็นต้องขยายเพดานมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สั่ง สศค. ไล่เช็คบิลหน่วยงานเร่งปิดโครงการคืนยอดเพื่อให้มีวงเงินนอกงบใช้จ่ายมากขึ้น