
กกร.แนะรัฐเจรจาการค้าสหรัฐ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม เร่งหาตลาดใหม่รับมือเมกาขึ้นภาษี คงกรอบ จีดีพีโต 2.4-2.9% ส่งออกคาดอยู่ที่ 1.5-2.5% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง
5 มี.ค. 2568 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังมีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยล่าสุดสหรัฐมีการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% และยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศ ข้อตกลงตามโควตา รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษีแบบรายสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2568 ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐ จะต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งให้มีการบูรณาการข้อมูลการค้าในทุกมิติระหว่างไทยและสหรัฐ อาทิ ดุลการค้า ดุลภาคบริการและดิจิทัล ดุลภาคขนส่ง ดุลภาคการศึกษา เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดท่าทีร่วมกับภาคเอกชน ในการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และผลกระทบจากสงครามการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม
“เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณอ่อนแรงลง สะท้อนผ่านจีดีพีไตรมาส 4/2567 ที่ขยายตัวเพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 4.0% ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง สำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการจีดีพีไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิมอยู่ที่ 2.7% ขณะที่ กกร.คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4-2.9% ส่งออกคาดอยู่ที่ 1.5-2.5% และเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.8-1.2% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่าโดยเฉพาะโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เป็นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระการผ่อนอย่างมีนัยสำคัญให้กับลูกหนี้ เป็นมาตรการชั่วคราวที่ยาวถึง 3 ปี เพียงพอในการสนับสนุนและรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐในการเข้ามาปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านต่างๆ ที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม มาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบและประคองการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘รมว.กลาโหม’ ลั่นแผนซื้ออาวุธสหรัฐฯ ต้องไม่กระทบแผนปฏิรูปกองทัพ
'ภูมิธรรม'เผยแผนซื้ออาวุธสหรัฐฯ ต้องไม่กระทบแผนปฏิรูปกองทัพ ย้ำข้อเสนอ กู้เงินซื้อเอฟ16ไม่สามารถทำได้ รอผลเจรจาไทยก่อน ระบุ ครม.ยังไม่เคาะกริฟเพ้นท์ แค่ความต้องการ ทอ. แผนซื้อสไตรเกอร์เพิ่มต้องรอดูงบฯ69 พร้อมลงพื้นที่ชมซ้อมรบกรมทหารราบยานเกราะวันนี้