'อาคม' ลุ้นจีดีพีปีนี้โต 3.5-4.5% ห่วงหนี้ครัวเรือน-เฟ้อรั้งเศรษฐกิจ

ภาษีน้ำมัน

“อาคม” ลุ้นจีดีพีปี 65 โต 3.5-4.5% ปักหมุด 10 ปี สร้างความยั่งยืนทางการคลัง เร่งขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือน-เงินเฟ้อฉุดรั้งเติบโต ด้าน ธปท. ชี้คริปโตฯ เป็นกระแส ยังไม่ตอบโจทย์การชำระค่าสินค้าและบริการ

10 ก.พ. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” ว่า คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 แต่หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาดก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้

ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น หากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือถึงเรื่องการปรับตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยใน 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นโยบายที่สำคัญของไทยคือการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 2. เทคโนโลยีดิจิทัล 3. การแพทย์ และบริการด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากบริการท่องเที่ยวควบคู่กับบริการด้านสุขภาพ ไปเป็นอสังหาริมทรัพย์ควบคู่บริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการดึงดูดและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น

4.การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 5. การท่องเที่ยว ที่จะต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ 6. ความคุ้มครองทางสังคม คือการสร้างวินัยทางการเงิน การออม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมได้อย่างทั่วถึงในยามที่เกิดวิกฤติทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจฐานราก และ7. โครงสร้างประชากร และสังคมผู้สูงอายุ โดยต้องมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสม วางแนวทางเรื่องการทดแทนแรงงานในอนาคตที่จะลดลง การจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

ส่วนนโยบายการคลังในอนาคตหลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีภาระทางการคลังค่อนข้างมาก จากการจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ ความยั่งยืนทางการคลัง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง และการจัดเก็บรายได้ การเร่งขยายฐานภาษี ฐานรายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ 2. กรอบกติกาภาษีของโลกใหม่ ที่เน้นในการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ผ่านข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งจะช่วยความยั่งยืนด้านภาษี และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มั่นคง ส่วนในระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญปัญหา ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงวัย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้น ดังนั้นหากไทยไม่มีการปรับโครงสร้างจะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของเราเติบโตได้อย่างจำกัดมากขึ้น

“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคการเกษตรยังไม่ขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพราะยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเดิม ไม่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ด้านอุปสงค์ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังมีข้อจำกัด เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากโควิด-19 ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ยังขยายตัวได้ดี แต่ในอนาคตหากมีปัญหาสงครามการค้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเป็นลักษณะ K-shape บางภาคเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องพยายามลดความเสี่ยงให้มากขึ้น ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคใดภาคหนึ่งมากจนเกินไป และทำให้ภาคเศรษฐกิจยืดหยุ่นมากขึ้น ลดความเสี่ยง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนมากขึ้น และระบบเศรษฐกิจในอนาคตต้องคำนึงเรื่องการกระจายอำนาจการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โจทย์สำคัญของประเทศไทยในอนาคต คือ การเป็นส่วนหนึ่งของโลกใหม่อย่างสง่างาม และมีบทบาทสำคัญ ไม่ติดอยู่ในโลกเก่า โดยบทบาทของภาคการเงินของธนาคารกลางในการสนับสนุนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า อยู่ภายใต้ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. เทคโนโลยีดิจิทัล และ Green Economy และ 2. นวัตกรรมที่กระแส ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง มาเร็ว มาแรง แต่ก็อยู่กับเราไม่นาน ดังนั้นหน้าที่สำคัญของภาคการเงินคือ จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจไปสู่โลกใหม่ ที่เน้นความยั่งยืน ควบคู่กับระบบดิจิทัลมากขึ้น

“นวัตกรรมบางอย่างอาจไม่ได้ส่งประโยชน์กับส่วนรวม แถมยังสร้างความเสี่ยง หลักการของระบบการเงินคือต้องหาจุดสมดุลของนวัตกรรมและการดูแลเรื่องความเสี่ยง นั่นคือ การสร้างความยืดหยุ่น อะไรที่เสี่ยงมากก็อาจจะกำกับเยอะขึ้น เข้มข้นขึ้น อะไรที่เสี่ยงน้อยก็กำกับน้อยลง ส่วนอะไรที่ยังประเมินความเสี่ยงลำบาก ก็ใช้หลักราวกั้นเพื่อดูแลความเสี่ยง และเมื่อเราเรียนรู้นวัตกรรมนั้น ๆ มากขึ้น เห็นแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ก็อาจขยายราวกั้นให้กว้างขึ้น แต่หากความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ราวกั้นนี้ก็จะต้องเข้มข้นขึ้น ทั้งหมดคือความยืดหยุ่นเพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า มีหลายอย่างที่ประเมินลำบาก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดทิศทางในภาคการเงิน คือ ต้องแยกให้ชัดระหว่าง แก่น กับกระแส แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบันมีการใช้นโยบายการเงินโดยมีตัวยึดคือเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะดูให้สอดคล้องกับการเติบโต เสถียรภาพทางการเงิน และในระยะข้างหน้าก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เครื่องมือทางการเงินให้ครบถ้วนและบูรณาการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศ รวมถึง ธปท. ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารอย่างชัดเจน มีการอธิบายมากขึ้น แม้จะไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการสื่อสารมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสื่อสารกับตลาด คนเล่นในตลาด นักวิเคราะห์ หรือนักลงทุนเท่านั้น แต่มีการสื่อสารไปยังสาธารณชนโดยรวมมากขึ้นด้วย รวมทั้งพยายามพัฒนารูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายและแตกต่างให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มผู้รับสาร เพื่อให้เห็นภาพความเป็นจริง และเพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า แก่นที่ถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ การมีระบบการชำระเงินที่รวมศูนย์ มีภาครัฐรักษาดูแลมูลค่าของเงิน ดูแลเสถียรภาพของเงิน แม้ว่านโยบายการเงิน การกำกับดูแลจะเปลี่ยนแปลง แต่ระบบการชำระเงินที่รวมศูนย์อยู่ยงคงกระพัน และเป็นระบบที่เสถียร ตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน ส่วนกระแสในปัจจุบันคือ คริปโตเคอร์เรนซี่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินอย่างหนึ่ง เป็นกระแสแต่อาจไม่ตอบโจทย์การชำระค่าสินค้าและบริการ ดังนั้นหากจะพูดว่านวัตกรรม หรือกระแสที่จะมาแทนแก่นได้ ควรเป็นอะไรที่ดีกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นก็อย่าเอามาใช้ เพราะไม่เป็นประโยชน์ และยังอาจไปกระทบเสถียรภาพของระบบเดิมที่ดีอยู่แล้ว

“ไม่ได้หมายความว่า ธปท. อนุรักษ์นิยม นิ่งเฉย ไม่พัฒนา เพราะอะไรที่ดีกว่าเดิมเราก็พร้อมจะเปลี่ยน ซึ่งระบบการชำระเงินเดิมของเรามันค่อนข้างโอเค ส่วนกระแสที่คิดว่าจะมาแทนแก่นก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นประโยชน์และดีกว่าของเก่าที่มีอยู่แล้ว และในช่วงที่ผ่านมา ธปท. เองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ เช่น การโอนเงินไปต่างประเทศซึ่งมีค่าธรรมเนียมสูง ตรงนี้ก็มีการพัฒนา เชื่อมโยงระบบให้สะดวกมากขึ้น เร็วขึ้น ค่าธรรมเนียมถูกลง โดยเน้นว่า ธปท. ไม่ได้ผลิตโปรดักซ์เพื่อมาแข่งกับเอกชน แต่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวม คนเข้าถึงได้ และปลอดภัย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ttb ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยทะลัก 16.9 ล้านล้านในสิ้นปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง

‘แบงก์ชาติ’ ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือนขึงเกณฑ์ตรวจเข้มแบงก์ปล่อยกู้

“แบงก์ชาติ” ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน ปักธงปี 2567 ขึงเกณฑ์ Responsible Lending ตรวจเข้มข้นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ขีดเส้นต้องมีข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง