หนี้ครัวเรือนฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดลง เสนอรัฐเร่งตรึงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ลดภาระค่าน้ำมัน ลดดอกเบี้ย

ส.อ.ท. โอดหนี้ครัวเรือนฉุด ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง ปัจจัยต่างประเทศยังซ้ำหวั่นผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น เสนอรัฐ 4 ข้อ เร่งตรึงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ลดภาระค่าน้ำมัน ลดดอกเบี้ย

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ. 2567 ว่าอยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 90.6 ในเดือนม.ค. 2567 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ายอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ด้านการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยโดยเฉพาะตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยลดลง ขณะที่ต้นทุนด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าฟรี (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (ช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567) และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,316 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือนก.พ.พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 85.1% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 74.3% ราคาน้ำมัน 53.7% เศรษฐกิจในประเทศ 48.5% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 38.0% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 31.2% ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 98.4 ในเดือนม.ค. 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในภาคเกษตรและปริมาณน้ำในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามเอกชนจึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2. เสนอให้ภาครัฐต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2567 3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วน การจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SME เป็นไม่น้อยกว่า 50% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง  โดยเฉพาะในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4.ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยต่างไปจากประเทศอื่นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไทยเองประชาชนโดนยึดรถ ยึดบ้านจากปัญหาดอกเบี้ยที่สูง ธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยทางการเงินที่เพิ่มขึ้น กนง.จึงควรตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจของไทยให้มาก จึงอยากจะขอวอนให้ได้พิจารณาเพื่อลดค่าครองชีพ และช่วยเหลือธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SME

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทยเพียบ ส.อ.ท.ชี้ผู้ประกอบการเสียหายหนัก

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 38 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้หัวข้อ “สินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทย ภาคอุตสาหกรรมรับมืออย่างไร”