เงินเฟ้อ ก.พ. พุ่งแรง 5.28% สูงสุดรอบ 13 ปี

4 มี.ค. 65 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.2565 เท่ากับ 104.10 เทียบกับม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 1.06% เทียบกับเดือนก.พ.2564 เพิ่มขึ้น 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 ส่วนเงินเฟ้อรวม 2 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.25% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.20 เพิ่มขึ้น 1.20% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 1.80% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2564 และรวม 2 เดือนเพิ่มขึ้น 1.16%

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.พ.2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 29.22% จาก 19.22% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทีjสูงขึ้น 4.51% จาก 2.39% ในเดือนก่อนหน้า เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนก.พ.2564 ซึ่งต่ำสุดในรอบปี 2564 ทำให้เงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 260 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันพืช น้ำประปา ไข่ไก่ กระดูกซี่โครงหมู สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 65 รายการ เช่น ค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 105 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ส้มเขียวหวาน ขิง พริกสด ค่าธรรมเนียมการศึกษา กล้วยน้ำว้า ค่าเช่าบ้าน และค่าส่งพัสดุไปรษณีย์

นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 2565 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงานที่ยังสูง ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่ยังประเมินชัดเจนไม่ได้ เพราะทิศทางในอนาคตยังมีความผันผวน ทั้งราคาน้ำมัน การสู้รบในยูเครน อัตราการเพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ที่ระดับ 4-5% ถ้าใช้เหตุผลน้ำมัน แต่ต้องดูตัวอื่น ๆ ประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่เริ่มปรับตัวลดลง เช่น กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง ที่จะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยง และเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง โดยจะมีการประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมอีกครั้งหลังได้ตัวเลขในเดือนมี.ค.2565 โดยเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 0.7-2.4%

“แม้เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถควบคุมได้ และได้รับผลกระทบกันทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะไทย เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนจำเป็นต้องออกมาตรการสกัดหรือไม่ เมื่อถึงเวลา ธปท.จะดำเนินการเอง เพราะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดมาตลอดอยู่แล้ว” นายรณรงค์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ