รักเด็กหรือหิวเสียง

เรื่องสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ยและการคิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ. เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กระแสเสียงสังคมที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ออกมาในท่วงทำนองไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วย  แม้กระทั่ง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  ที่มักจะไม่ค่อยแสดงความเห็นอะไรนอกบทบาทของการเป็นประธานรัฐสภาฯ ยังอดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลเสีย ในการเริ่มต้นชีวิตผู้ใหญ่ของเยาวชน

มาดูก่อนว่าเสียงส่วนน้อยในสภาที่ความเห็นพ่ายตกไป เสนอว่าควรเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืม เงินกยศ.0.25% นั้นมีความหมายอย่างไร  

จะว่าไปดอกเบี้ยแค่ร้อยละ0.25   ถ้าคิดเป็นตัวเงินถือว่าน้อยนิดมาก คิดง่ายๆว่าหากกู้เงินมาเรียน 1 แสนบาท  จะเสียดอกเบี้ยเพียงปีละ 250 บาท หรือถ้ากู้ 4แสน เท่ากับเสียดอกเบี้ยปีละ 1,000 บาทเท่านั้น   ดอกเบี้ยที่เก็บจึงไม่ได้สร้างภาระจนเกิดผลกระทบกับผู้กู้หนักหน่วง จนแบกรับไม่ได้

การคิดดอกเบี้ยร้อยละ0.25  จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการแสดงความรับผิดชอบต่อธุรกรรมที่ตนได้ทำไว้เท่านั้น   ในมุมบวกยังเป็นการสอนให้เด็กรับรู้ความรับผิดชอบ  เกิดสำนึกว่าทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เขาต้องจ่าย เพื่อมีโอกาสทางการศึกษานั้น เป็นต้นทุนที่มีคุณค่า และควรใช้โอกาสนี้ให้คุ้มค่ากับชีวิตของเขาต่อไปในภายภาคหน้า  

เรื่องดอกเบี้ย ในเวทีการเมืองคงไม่มีใครมองตัวเลขที่ร้อยละ 0.25 ว่าตัวเงินมันน้อยขนาดไหน  เผลอๆ อาจจะอ้างในมุมกลับว่าเงินเท่านี้เอง กยศ.จะเอาไปทำไม แต่อย่าลืมว่าในความเป็นจริง กยศ.ต้องมีค่าบริหารจัดการด้วย

เมื่อหันไปมองสถิติ การปล่อยกู้และการชำระหนี้ของเด็กที่กู้กยศ. 20ปีที่ผ่านมา ก.ย.ศ. ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 4แสนล้านบาท  คิดดอกเบี้ยผู้กู้ 1% เบี้ยปรับผิดนัดชำระไม่เกิน 1% ช่วงปี 2564 จัดโปรฯ ลดเบี้ยปรับเหลือ 0.01% เพื่อช่วยเหลือคนได้รับผลกระทบจากสถานการณืโควิด 19

ปล่อยกู้ไปแล้ว 6.9 แสนล้าน  ลูกหนี้ 6.2 ล้านราย ปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 6.7 หมื่นราย อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ต้องชำระหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นการฟ้องร้องหลายแสนราย

ลองดูตัวเลข คนเบี้ยวหนี้ 2.5 ล้านราย คิดเป็นประมาณเกือบ  70% จากลูกหนี้ 3.5 ล้านราย  สะท้อนให้เห็นว่า แม้กยศ.จะคิดดอกเบี้ยต่ำ  แต่ก็ยังมีผู้กู้จำนวนมาก ไม่รับผิดชอบหนี้ที่ก่อ  แตกต่างจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน  อื่นๆ ที่มีหนี้เสียผิดนัดชำระน้อยกว่ามาก แสดงให้เห็นว่า ผู้กู้เงินกยศ.ไม่กลัวการถูกฟ้องร้องจากกยศ.  

ไม่มีใครบอกได้ว่า ที่ผู้กู้เงินกยศ.ไม่กลัวโดนฟ้องเพราะดอกเบี้ยไม่สูงภาระไม่เยอะหรือไม่ แต่อีกมุมหนึ่ง ที่สภาของส.ส.นอกจากมีมติไม่คิดดอกเบี้ยผู้กู้ และยังไม่ให้คิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระอีกด้วย ยกเหตุผลเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นอีกเรื่องที่น่าวิตก ทั้งที่ปัจจุบันกยศ.คิดทั้งดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่สามารถลดจำนวนคนเบี้ยวหนี้ได้ แต่การที่จะไม่คิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระเลย อาจจะเป็นช่องยิ่งทำให้ผู้กู้ขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น   เพราะไม่มีบทลงโทษ คิดจะจ่าย หรือจ่ายไม่ตรงเวลาก็ได้  

ไม่ได้มีแต่ในสภา ที่คิดจะยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กยศ. ยังมีอีกกระแสสังคม ที่เรียกร้องให้ล้างหนี้ กยศ. ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม ‘ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ’ รณรงค์ให้มีการลงชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อสนับสนุนกฏหมาย ล้างหนี้กยศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม    ซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งจากผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอดีตลูกหนี้กยศ.ที่ชำระหนี้ไปแล้ว ไม่เห็นด้วยอย่างมาก มองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้กู้ที่ชำระหนี้ครบถ้วน  และยังเห็นว่า มีผู้กู้จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่เลือกกู้เงิน กยศ. เพื่อใช้ประโยชน์อื่นแล้วไม่ยอมใช้คืน ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องกู้ยืมจริงๆ เดือดร้อน

ผู้ไม่เห็นด้วยยังแย้งอีกว่า แนวทางการชำระหนี้ ของกยศ.นั้นมีความยืดหยุ่นสูงมาก คนเรียนจบ ยังไม่มีงานทำ หรือตกงาน สามารถยื่นคำร้อง เพื่อขอพักการชำระหนี้ได้ ซึ่งนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เคยชี้แจงเรื่องการยกเลิกหนี้ กยศ.ว่า กยศ.   เป็นกองทุนหมุนเวียนไม่ได้แสวงหาผลกำไร  ให้โอกาสทางการศึกษา กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี    ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ 
ผู้จัดการกยศ. ยังบอกอีกว่า กยศ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ในการสร้างคนที่เรากำลังอยู่ในช่วงปฎิรูปการศึกษา ไม่ใช่การทำให้เด็กได้ความรู้อย่างเดียว การเรียนแบบใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังผลักดันที่เรียกว่า Active Learning  เป็นการสอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น ไม่ใช่รอการป้อนความรู้จากครูเหมือนแต่ก่อน แต่การทำให้เด็กคิดเป็นทำเป็น ต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นในการพัฒนาคน

ปมประเด็นว่าจะยกเลิกเก็บดอกเบี้ย และยกเลิกเบี้ยปรับของ กยศ. ยังเหลือการพิจารณาอีกชั้นจาก วุฒิสภา ถ้าสภาแห่งนี้ เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร  ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ของกยศ.ที่อยู่บนความเสี่ยง ว่าจะยืนหยัดอยู่รอดได้หรือไม่  และหลังจากนั้น จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกันได้หรือไม่ และความเท่าเทียมทางการศึกษาจะเป็นจริงได้แค่ไหน   รวมถึงจะสร้างความยุติธรรมแก่ผู้กู้ยืมได้จริงไหม ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

 แต่อีกอย่างที่ไม่ควรลืม ก็คือ เด็กในวันนี้ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าอย่างไร หากขาดความรับผิดชอบพื้นฐานในการดำเนินชีวิต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟังไว้ 'วันนอร์' ฮึ่ม! ตำแหน่งประธานสภาฯ ใครจะมาแทรกแซงไม่ได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะมีการขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อใช้รองรับการ

'พิธา' เปิดใจอำลาสภา! ทิ้งทวนซักฟอก ครั้งสุดท้ายชีวิตการเมือง

’พิธา‘ ลาสภา เปิดใจ ‘อภิปราย ม.152’ อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง ลั่นยิ่งยุบพรรคยิ่งทำให้ถึงเส้นชัยเร็วขึ้น แนะ ‘เศรษฐา’ 3 เรื่อง ปลุกภาวะผู้นำ ‘ปรับ ครม. – มีโรดแมป – ฟังให้มากขึ้น’

รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา 'กยศ.' ปรับโครงสร้างลูกหนี้กว่า 3.5 ล้านราย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ

เช็กเสียงโหวต ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระสาม ในสัดส่วนของพรรครัฐบาล พบว่าพรรคเพื่อไทย มี น.ส.สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สส.อุบลราชธานี