จาก 'เพาะพันธุ์ปัญญา' ถึง 'น่านเพาะพันธุ์ปัญญา' จุดประกายแสงสว่างการศึกษาไทย

ย้อนไปเมื่อ10ปีที่แล้ว ช่วงพ.ศ.2556 ในแวดวงการศึกษา ยังไม่มีการพูดคำว่า Active Lerning  กันอย่างแพร่หลายเหมือนขณะนี้   แต่มีรูปแบบการศึกษาหนึ่งที่เรียกว่า”เพาะพันธุ์ปัญญา” เกิดขึ้น ภายใต้การผลักดันของธนาคารกสิกรไทย ที่จับมือร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสกว.ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการวิจัย(อว.) ก่อกำเนิดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาซึ่งเป็นรูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน ไม่แตกต่างไปจากหลักการของการเรียนรู้แบบ Active Lerning  ในปัจจุบันแต่อย่างใด

โดยหัวใจหลักของเพาะพันธุ์ปัญญา อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงบทบาททั้งครู และผู้เรียน ครูเปลี่ยนจากผู้สอน ถ่ายทอดความรู้มาเป็นโค้ช ผู้ชี้แนะ หรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักเรียน  ส่วนนักเรียนเปลี่ยนจากผู้รับความรู้จากครูโดยตรงมาเป็นผู้ที่ต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ของนักเรียนทำผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสะเต็มศึกษา เข้ากับชุดความคิดทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ (SEEEM) อันประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เศรษฐศาสตร์ (Economics) นิเวศวิทยา (Ecology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ที่สอนให้เด็กตั้งคำถาม เกิดกระบวนการคิดอย่างมีระบบ มีเหตุ มีผล    โดยรับนักเรียนชั้นม.2-3 เข้าโครงการ

ในช่วง 6ปีแรก มี การทำโครงการกับโรงเรียน 18 จังหวัด และมี 8 มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ซึ่งพี่เลี้ยงเหล่านี้มาจากหลากหลายคณะของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ได้มาจากคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์โดยตรง มีทั้งวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม บริหารธุรกิจ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี   มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 135 โรง มีห้องเรียนกว่า 842 ห้อง ครูเข้าร่วมโครงการ 4,579 คน และนักเรียนอีก 24,612 คน  

ต่อมาในปี2562-2565 โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ได้เปลี่ยนมาเป็น”เพาะพันธุ์ปัญญาน่าน” โดยธนาคารกสิกรไทยผู้สนับสนุน  ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยารับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ  เนื่องจาก มองว่า น่านเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เป็นอันดับ ที่16 จาก 17 อันดับในจังหวัดภาคเหนือ ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์  การยกระดับการศึกษาจะช่วยให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของจังหวัด มีความเช้าใจในวัฒนธรรม  เห็นคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสร้างรากฐานความยั่งยืนทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรพื้นถิ่นที่มีอยู่ ตลอดจนสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย


“เราทำโครงการที่น่านเยอะ มีพันธมิตร และคิดว่าการทำที่ ‘น่าน’ เหมือนภาพเล็กๆ ที่ต่อกันเป็นภาพใหญ่ มันมีความหมายกับจังหวัดและประเทศ  เกิดผลเป็นสิ่งใหม่ๆ ” ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าว  


การดำเนิน โครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา”ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างโรงเรียนต้นแบบ 30 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน และมีการนำเสนอโครงการ 195 โครงการ จากเป้าหมาย 150 โครงการ จนมาถึงพ.ศ.2565 “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา”ได้จบโครงการลงแล้ว

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเกิดจาก คุณบัณฑูร ล่ำซำ ท่านประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย  เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นยุคของโลกาภิวัฒน์  หรือ Globaization เน้นการแข่งขันกัน แต่ท่านมองว่าการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันอย่างเดียว แต่ต้องมีสิ่งอื่นด้วย และจากการพูดคุยถกเถียงกับนักวิชาการ นักวิจัยมากมาย จากสกว.ทำให้มาได้ข้อสรุปว่า หัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น อยู่ที่การศึกษาและการพัฒนาคน จึงเป็นที่มาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเจตนารมณ์ของท่าน ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เกิดขึ้น ด้วยกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา  “ดร.อดิศวร์ กล่าวถึงที่มาของโครงการ

 

สำหรับ โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ในฐานะที่กสิกรไทย ทำโครงการที่น่านเยอะมากมาย และมีพันธมิตรต่างๆ และยังคิดว่า การทำเพาะพันธุ์ปัญญาที่ ‘น่าน’ เป็นเสมือนภาพเล็กๆ ที่ต่อกันเป็นภาพใหญ่ การศึกษา ซึ่งมีความหมายกับจังหวัดและประเทศ  และอาจทำเกิดผลเป็นสิ่งใหม่ๆ  

“ในช่วง 10ปีของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ถือว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาไทย  เด็กที่เข้าร่วมโครงการ เกิดกระบวนการคิด เกิดความซาบซึ้งต่อการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะตัวครูเปลี่ยนจาก ผู้อำนวยความสะดวกความรู้ให้แก่นักเรียน กลายเป็นผู้ทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น  ความคิดครูหลังจากเข้าร่วมโครงการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มองการศึกษาเปลี่ยนไป ส่วนตัวเด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และทำให้เกิดการจุดประกายขยายผล  ไปสู่ภาพใหญ่การศึกษาของประเทศ”



ดร.อดิศร์ขยายความอีกว่า ผลจากเพาะพันธุ์ปัญญา ได้ขยายไปสู่ระบบการศึกษา โดยมีการรนำหลักการเรียนการสอนของเพาะพันธุ์ปัญญาไปใช้จริงๆ ในโครงการ”โรงเรียนแซนด์บ๊อกซ์ “หรือ”โครงการโรงเรียนนวัตกรรมพื้นที่พิเศษ “ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนต่างๆที่มีความพร้อมและความต้องการพัฒนาการเรียนการสอน ในรูปแบบใหม่ เข้าร่วมโครงการ  ปรากฎว่ามีโรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมของจังหวัด และเคยเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามาแล้ว  ได้นำรูปแบบการเรียนการสอนของของเพาะพันธุ์ปัญญาไปใช้เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ โรงเรียนแห่งนี้ ยังมีการถ่ายทอดแนวคิดของเพาะพันธุ์ปัญญาไปให้โรงเรียนเครือข่ายอีกหลายแห่งอีกด้วย นอกจากนี้น  ยังมีโรงเรียนในอีกหลายจังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี  สงขลา สุราษฎร์ธานี ราชบุรี  สมุทรสาคร  น่านและพะเยา ที่จะนำวิธีการแบบเพาะพันธุ์ปัญญาไปใช้ในการเรียนการสอน

” เป็นความตั้งใจของกสิกรไทยตลอด 10ปี จากแรกๆ ที่เป็นความหวังเลือน ๆ ว่าเราจะนำพื้นฐานใหม่ ของการเรียนการสอนมาใช้ได้หรือไม่ แต่เวลานี้ ไม่น่าเชื่อว่าเพาะพันธุ์ปัญญาไม่ใช่แค่โครงการย่อๆ แต่เป็นโครงการที่สามารถเข้าไปสู่การศึกษาของประเทศได้แล้ว ในแง่ตัวเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เราก็เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้จากเพาะพันธุ์ปัญญา จะติดตัวเขาไปตลอด   และเขาจะนำสิ่งที่ได้จากโครงการ ไปช่วยพัฒนาประเทศ สร้างสิ่งที่มีความหมาย สิ่งที่ดีและยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป “ดร.อดิศวร์กล่าว

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา และกรรมการกำกับดูแล ทิศทางการดำเนินงาน โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า  ในอดีตนักการศึกษาจะพูดถึงการเรียนแบบ STEM ที่มาจาก science, technology, engineering, mathematics  แต่วิธีการแบบ STEM ทำให้เด็กขาดการเชื่อมโยง ตัวเองกับท้องถิ่น และไม่ได้รับองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง แต่แนวคิดเรียนรู้แบบ SEEEM  คือการผนวกเอา Ecology หรือพื้นฐานของท้องถิ่นเข้าไปด้วย   เพื่อให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของชีวิตและธรรมชาติรอบตัวนอกเหนือจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



แนวคิดส่วนหนึ่งของตรงนี้น่าจะก่อเกิดความเป็นน่านเพาะพันธุ์ปัญญา โดยรศ.ดร.สุธีระ อธิบายต่อว่า การเรียนรู้ในโรงเรียนของเด็กโดยทั่วไป จะไม่ได้สอนเรื่องธรรมชาติและทรัพยากรในพื้นที่ตนเอง เช่น ครอบครัวที่น่าน มีอาชีพปลูกข้าวโพด  แต่เด็กไม่รู้ว่าอาชีพที่พ่อแม่ทำเป็นการทำลายธรรมชาติ  ทำลายระบบนิเวศ เกิดผลต่อน้ำ ดิน โรคภัยไข้เจ็บ   ซึ่งถ้าต้องการให้คนน่านเห็นความยั่งยืน  ก็จำเป็นต้องทำให้เด็กเห็นความสัมพันธ์นี้ให้ได้

ไม่ได้มีเพียงเด็กเท่านั้นที่เรียนรู้จากเพาะพันธุ์ปัญญา แต่ตัวโครงการเอง ก็เรียนรู้จากการทำโครงการด้วยเช่นกัน  รศ.ดร.สุธีระ บอกว่า จากปีแรกโครงการฯประกวดการทำโครงงานของเด็ก ปรากฎว่าโรงเรียนจากสมุทรสาคร ที่ทำโครงงาน “แขมพูผสมน้ำมันมะพร้าว”ชนะเลิศไป ค้านสายตาผู้เข้าประกวดรายอื่นๆ ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและทรัพยากร แต่โรงเรียนจากสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลน ไม่มีเครื่อมือใดๆ แต่ท่ามกลางความขาดแคลนนั้น เด็กมีความขวนขวายหาคำตอบ และแม้ว่าในบางคำถามเด็กก็ให้คำตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่โครงงานที่ทำ  สะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดและการแก้ปัญหา    ซึ่งเป็นสิ่งที่เพาะพันธุ์ปัญญาต้องการ  

จากประสบการณ์ปีแรก ทำให้พบว่าการให้รางวัลเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะสังคมไทยมีแต่การให้รางวัล การทำงานของเด็กถูกขับเคลื่อนโดยรางวัล  ไม่ใช่แรงบันดาลใจ ในปีต่อมาของเพาะพันธุ์ปัญญา จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการประกวด มาเป็นการให้เด็กนำเสนอผลงานในรูปแบบละครเวที   ซึ่งถือว่าเป็นการสร้าง   Growth Mindset ให้กับเด็ก

“เราค้นพบว่าการให้รางวัลจะทำให้เด็กจะไม่กล้าทำสิ่งยากๆ  เพราะกลัวความพ่ายแพ้ ถ้าทุกคนตั้งความหวังว่าต้องชนะ ยอมรับความล้มเหลวไม่ได้ ก็จะไม่ทำให้เกิดกระบวนการคิดที่แท้จริง  นอกจากนั้น คณะกรรมการก็ไม่ได้หวังให้เด็กต้องทำโครงการที่เวอร์วัง อลังการ ซึ่งเกินตัวเด็กไป แต่ดูที่กระบวนการคิดและการแก้ไขปัญหาของเขาว่าเป็นอย่างไร “รศ.ดร.สุธีระกล่าว

 ในการปิดโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา  ได้มีการจัดกิจกรรมเวทีประลองปัญญา Eduthon มีโรงเรียนเข้าร่วม ที่แข่งขัน 123 โรงเรียน หลังการผ่านรอบตัดสินต่างๆ คัดกรองมาเหลือ 6 โรงเรียน ในรอบชิงชนะเลิศ  ที่ตั้งโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน” จุดหลักของโจทย์ คือ ต้องการให้เด็กคิดค้นโครงการ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ตนเอง และส่งเสริมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนชุมชนให้ดีขึ้น  พร้อมกับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การประลองปัญญานี้ อาจไม่ใช่การประกวดเต็มรูปแบบ ดังเห็นได้ผลจากการตัดสินของคณะกรรมการ ที่สะท้อนจุดยืนแนวคิดของเพาะพันธุ์ปัญญา ที่ต้องการสร้าง  Mindset กระบวนการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็ก โดยโรงเรียนทั้ง 6 แห่งล้วนได้รับรางวัลไปกลับไปทุกโครงงาน

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา และโรงเรียนนาหมื่น  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 3 ได้แก่ โรงเรียนจุนวิทยาคม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 และโรงเรียนปัว 


คณะกรรมการประกาศเหตุผลการตัดสินดังกล่าวว่า ระดับม.ต้น ไม่ได้ตัดสินจากความถูกต้องทางวิชาการ แต่ผลงานของเด็กที่ทำโจทย์ความลับของบ้านฉัน สะท้อนให้เห็นความคิด ความสวยงามในการจัดทรัพยากรของตนเอง  สะท้อนพลัง ความตั้งใจดีของเด็ก 


ระดับม.ปลาย คณะกรรมการแสดงเหตุผลว่า  ที่ทุกโรงเรียนได้รางวัลชนะเลิศ  เพราะโจทย์ที้ตั้งมีความท้าทายมาก แต่ผลงานที่เด็กทำ ถือว่าสร้างคุณค่าในท้องถิ่น และมีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกในอนาคต  นับเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ 


“รางวัลที่ได้รับของแต่ละทีม  แค่เป็นกำลังใจ แต่โครงงานเหล่านี้  ยังไม่จบ  แต่เป็นโครงงานที่ทำให้เกิดคุณค่าร่วมกัน” คณะกรรมการสรุป  .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์ เปิดแพลตฟอร์มขายไฟฟ้าโซลาร์ ของรายย่อย

ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ อินโนพาวเวอร์ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

KBank ให้สินเชื่อ SLL จำนวน 10,000 ล้านบาท แก่ GC เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ธนาคารกสิกรไทย สนับสนุนวงเงินสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan : SLL) จำนวน 10,000 ล้านบาท

ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้ายังอ่อนวิ่งในกรอบ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม