
4 ก.พ. 2568 – น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยจะเติบโตประมาณ 2.4% การบริโภคและการส่งออกภาคเอกชนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการเติบโตน้อยลง และการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงขึ้น โดยสิ่งที่ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูง ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้ม อ่อนแอลง
อย่างไรก็ดี ตลอดปี 2568 ธนาคารจะมุ่งยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ บุกเบิกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
“ธนาคารได้กำหนดเป้าหมายทางการเงินสำหรับปี 2568 อาทิ การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) มุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟ้นตัว และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 2568 ในระดับทรงตัว, ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) 3.3-3.5% สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ” น.ส.ขัตติยา กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารยังดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ตามยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ทำต่อเนื่องจากปี 2567 ได้แก่ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้านคือการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อการขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่างๆ และ ‘บวกหนึ่ง‘ คือการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาวโดยสิ่งที่ธนาคารเน้นเพิ่มขึ้นในปี 2568 นี้คือยุทธศาสตร์ Productivity เพื่อเพิ่มผลิตภาพจากการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์หลักที่ 1 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นการให้บริการลูกค้าปัจจุบันที่มีคุณภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ปรับให้เหมาะกับลูกค้า และใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับการจัดการทั้งกระบวนการ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านสินเชื่อ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 90% มาจากสินเชื่อที่มีหลักประกันและจากลูกค้าปัจจุบันที่ธนาคารรู้จักอย่างดี ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงให้ความสําคัญกับการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ รวมทั้งจะกลับมาเปิดโครงการสนับสนุนและให้ความรู้เอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้า
ยุทธศาสตร์หลักที่ 2 ขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียมด้วยการให้บริการโซลูชันการลงทุนและการชําระเงินครอบคลุมความต้องการของลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Business) ธนาคารมุ่งเน้นส่งเสริมบริการด้านการลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นที่ไว้วางใจ (Trusted Advisor) อย่างต่อเนื่อง ด้วยโซลูชันการลงทุนที่หลากหลาย ผ่านการให้คําปรึกษาจัดพอร์ตการลงทุนแบบ “Core & Satellite” ใช้ความแข็งแกร่งจากพันธมิตรระดับโลก
กลุ่มธุรกิจการชําระเงิน (Payment Business)ธนาคารมีบริการชำระเงินที่หลากหลาย โดยมี K PLUS เป็นจุดเชื่อมต่อบริการ ซึ่งปัจจุบัน จำนวนธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทย 1 ใน 3 ทำผ่าน K PLUS อีกทั้ง ธนาคารมีบริการเด่น อาทิ การให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ (Remittance) ที่สามารถโอนเงิน 25 สกุลเงิน ใน 150 ประเทศทั่วโลก การเชื่อมต่อกับบริการชำระเงินด้วย QR Payment ระหว่างประเทศผ่าน Alipay+ และ WeChat การแลกเงินผ่านตู้ ATM และ FX Booth ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริการ K PLUS Go Inter บริการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในที่เดียว ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงพัฒนาบริการชําระเงินโดยมี K PLUS เป็นแพลตฟอร์มหลัก ควบคู่ไปกับการขยายเข้าไปรองรับระบบนิเวศในธุรกิจร้านค้า เพื่อให้รับชำระเงินได้หลากหลาย
ยุทธศาสตร์หลักที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่างๆ ธนาคารมุ่งส่งมอบประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้งานในช่องทางต่างๆ โดยเน้นผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ด้วย K PLUS ที่มาพร้อมความปลอดภัย สะดวก ตลอด Journey ของลูกค้า ตั้งเป้า ปี 2568 เพิ่มจํานวนผู้ใช้ K PLUS จาก 23.1 ล้านคนเป็น 23.9 ล้านคน รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน K BIZ ให้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าผู้ใช้งาน K BIZ จาก 1.2 ล้านคนเป็น 2.1 ล้านคน
ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นําด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ด้วยประสบการณ์ดิจิทัลเฟิสต์ โดย K PLUS ครองความเป็นอันดับ 1 ด้านการใช้งาน และอันดับ1 ด้านความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์ (Net Promoter Score: NPS) ในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศ และบริการ Contact Center ได้รับคะแนนความพึงพอใจอันดับ 1(Net Promoter Score: NPS) ทั้งการให้บริการผ่านช่องทางโทรศัพท์ รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจรผ่าน KBank Live และสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ จากผลสำรวจของบริษัท นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลก
ยุทธศาสตร์ด้าน Productivity ธนาคารมุ่งเน้นที่จะยกระดับนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการภายในองค์กร (Productivity) ผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการทำงาน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน (Human Intelligence) เพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเกิดการทำงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด
นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจและร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นเวลา 80 ปี บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่น สามารถขับเคลื่อนผ่านความไม่แน่นอนและความท้าทายต่าง ๆ ได้ และเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้สําหรับลูกค้าเสมอมา ส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุด ผ่านนวัตกรรมและการนําเสนอโซลูชันทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า ซึ่งพิสูจน์ได้จากความเป็นผู้นําในด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเปิดศึก! กวาดล้างสินค้าผิดกฎหมาย-ธุรกิจนอมินี มูลค่าความเสียหายทะลุ 1.2 พันล้าน
รัฐบาลเดินหน้ากวาดล้างธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมาย จัดการสินค้านำเข้าผิดกฎหมายและธุรกิจนอมินีของต่างชาติ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1.2 พันล้านบาท พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการกระทำผิด
รัฐบาลโวเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจีดีพีทะลุเป้าแน่!
รัฐบาล มั่นใจเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกคึกคัก หลังการท่องเที่ยวฮอตฮิต แค่ 2 เดือนทะลุ 7.6 ล้านคน คาดดันจีดีพีไตรมาสแรกทะลุเป้าเกิน 3.3% แน่นอน
เฮ ‘กสิกร’ ลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% มีผลวันนี้
ธนาคารกสิกรไทย ลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เพื่อลดภาระหนี้ให้ลูกค้าทุกกลุ่ม มีผล 4 มี.ค. 2568
นายกฯ ขออย่าเพิ่งท้อแม้ 'จีดีพี' รั้งท้ายอาเซียน
นายกฯ ขอ อย่าเพิ่งท้อจีดีพีรั้งท้ายอาเซียน ติงอย่าเล่นเกมการเมืองต่างประเทศ ลั่นเป็นนายกฯดูแลทั่วปท. รับท้อบ้าง แต่ไม่นาน
โพลชี้ ศก.ฝืดเคือง รัฐบาลทำงานไร้ประสิทธิภาพ ชี้แจกเงินหมื่นก็ไม่ช่วย
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,141 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2568
ยาสารพัดนึก! สว.นันทนาบอกเศรษฐกิจไทยวิกฤตต้องรื้อโครงสร้างแก้ รธน.ถึงช่วยได้
ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.)