'ศิริราช'เปิดศูนย์วินิจฉัย'ดื้อโบ' ตรวจลึกรู้ฉีดแบรนด์ไหนมา พบผู้ใช้ประจำ 58% เกิดภาวะไม่ตอบสนอง

2 พ.ย.2565-คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน” แห่งแรกในไทย เพื่อรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้สารโบทูลินัมท็อกซิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ และการตรวจวินิจฉัยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ขอรับการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินด้วยปัญหาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนนำมาใช้ทางด้านการแพทย์และความสวยงามกันมากขึ้น มักจะรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ผ่านมาพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับสารโบทูลินัมท็อกซินในปริมาณมาก หรือได้รับการรักษาต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้ดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ นำไปสู่การพัฒนาของทีมวิจัย การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาทางคลินิก เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาในการตอบโจทย์ท้าทายนี้ อันจะนำไปสู่การเลือกวิธีการรักษาต่อไปให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินโดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์นี้ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกและได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด

ในส่วนการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้สารโบทูลินัมท็อกซิน พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคทางระบบประสาทในหลายๆ โรค โดยกลุ่มคนไข้คลินิกฉีดยาโบทูลินัมท็อกซิน สาขาประสาทวิทยา ที่มารับการรักษามากที่สุดคือ คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง สามารถเบิกได้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะโบทูนัมท็อกซิน จะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมาก เมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา โดยเฉลี่ยมีคนไข้เข้ารับการรักษาอยู่ที่ 100-120 คนต่อเดือน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก 70% อีก 30% คือ คนไข้ภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็งที่ต้องฉีดโบทูลินัมท็อกซินถึง 100-150 ยูนิต คนไข้กลุ่มนี้จึงเสียงที่จะมีภาวะดื้อในอนาคต ดังนั้น การดื้อโบทูลินัมท็อกซินพบได้ในผู้ป่วยที่มารักษาภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจาก มีการใช้ยาขนาดสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกที่ใช้ยาขนาดน้อยกว่า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง ทำให้แพทย์จะต้องมีการปรับการรักษาให้ตรงจุดมากขึ้น

ศ. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ให้ข้อมูลว่า ประมาณช่วงปี ค.ศ.2000 สารโบทูลินัมท็อกซินผ่านการรับรองในการใช้เพื่อความงามจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือเอฟดีเอ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมีผู้ใช้เยอะขึ้น และมีคนที่เริ่มใช้อายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนภาวะดื้อโบทูลินัมฯ ในแง่ใช้เพื่อความงาม จะเริ่มมีภาวะดื้อสามารถสังเกตได้ 2 กรณี คือ 1. ระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่น้อยลง เช่น คนไข้เริ่มฉีดสารโบท็อกที่ 50 ยูนิต มีระยะเวลาออกฤทธิ์อยู่ 3-4 เดือน แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์ลดลงเหลือเพียง 2 เดือนหรือควรอยู่ได้ 3 เดือน แต่อยู่ได้เพียง 2 เดือน 2.การออกฤทธิ์ที่ไม่เห็นผลลัพธ์เหมือนเดิม เช่น ฉีดโบท็อกที่ 50 ยูนิต แต่ผลลัพธ์ใบหน้าไม่ตึงเท่าเดิม ซึ่งงานวิจัยในอดีตอาการดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากมีคนไข้ได้รับสารตัวนี้ในจำนวนน้อย แต่ในปัจจุบันมีผู้ใช้สารตัวนี้จำนวนมาก ภาวะดื้อนอกจากจะมาจากการฉีดในปริมาณที่เยอะและบ่อย หรือมีการฉีดข้ามแบรนด์ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาภายในแล้วแต่บุคคลทั้งนี้ไม่ว่าจะในเพศหญิงและชายมีโอกาสพบภาวะดื้อเท่ากัน เพียงแต่อัตราการฉีดโบทูลินัมฯ ในเพศหญิงจะเยอะกว่า ดังนั้น ควรฉีดโบท็อกจากแบรนด์ที่ได้การรับรองจาก อย. หรือฉีดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากเกิดภาวะดื้ออาจจะส่งผลเสียในอนาคตเมื่อเป็นโรคเกี่ยวกับทางกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท

พญ.ยุวดี (ซ้าย)- รศ. ดร. นพ.ยุทธนา (กลาง)-ศ. พญ.รังสิมา(ขวา)


ศ.พญ.รังสิมา กล่าวอีกว่า โบท็อกแต่ละยี่ห้อมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน ซึ่งศูนย์ของเราจะสามารถตรวจละเอียดลงลึกแยกเฉพาะตัวแบรนด์ได้ด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากที่อื่น ทั้งนี้ในการวิจัย จากตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 จากการใช้สารโบทูลินัมท็อกซินที่มีการรับรองจาก อย. จำนวน 6 แบรนด์ที่ใช้ในประเทศไทย จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ในจำนวนนี้สามารถจำแนกได้ว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 48% ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 18% และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8% จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้นต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น ในฐานะแพทย์ จึงอยากแนะนำให้คนไข้เลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินในอนาคต

รศ. ดร. นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าวเสริมว่า การทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก โดยใช้เลือดในการตรวจภาวะดื้อโบ ปริมาณ 5 CC ต่อคน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีด เคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ลักษณะการไม่ตอบสนอง โดยวิธีการรักษาคือ การตรวจเลือดหาภาวะดื้อโบ และรอให้สารตัวนี้จางหายไปจนสามารถกลับมาฉีดใหม่อีกครั้งได้ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนกลับมาตรวจซ้ำ เพื่อหาแนวทางการรักษา

ตัวอย่างการตรวจภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน

ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ยังได้ร่วมกับ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย เดินหน้าโครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการมารับการทดสอบที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ทางบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย โดยร่วมมือกับพันธมิตรคลินิกความงามมากกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในการสร้างเครือข่ายในการช่วยเก็บข้อมูล และตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบ รวมถึงการนำส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินในขั้นตอนถัดไป และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไปอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาสุขภาพ'วัยเก๋า' พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มีประชากรอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% และคาดการณ์อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) มีผู้สูงอายุเกิน 28%   ทั้งนี้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ผู้ป่วยสูงวัยที่สูงขึ้น

ชวนดู “เฉลียง Rare Item RESTAGE” รอบการกุศล มอบรายได้ให้ “ศิริราช” เพื่อช่วยผู้พิการ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดงานแถลงข่าว คอนเสิร์ตรอบการกุศล “เฉลียง Rare Item RESTAGE

ศิริราชค้นพบนวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์รักษาริ้วรอยใบหน้า

9 มิ.ย.2566 - ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว“ครั้งแรกของเอเชีย ศิริราชคิดค้นนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์ เพื่อการรักษาริ้วรอยบนใบหน้า” ณ ห้องประชุมอาคารนวมินทรบ

'อ๊อฟ พงษ์พัฒน์' บริจาคเงินทำบุญให้ รพ.ศิริราช

เป็นความสูญเสียของครอบครัววชิรบรรจง ครั้งใหญ่เลยทีเดียว เมื่อผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ได้สูญเสียคุณพ่อคมสัน วชิรบรรจง ด้วยโรคชรา ซึ่งได้มีการบำเพ็ญกุศลและสวดพระอภิธรรมไปแล้ว ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ท่ามกลางเพื่อนพ้องในแวดวงการบันเทิงมาร่วมแสดงความอาลัยและแสดงความเสียใจกับครอบครัววชิรบรรจงกันเป็นจำนวนมาก

ศิริราช ผนึกพลังภาครัฐ-เอกชน ระดมทุนสนับสนุนโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร

รพ.ศิริราช จับมือภาครัฐ-เอกชน แถลงโครงการ “ศิริราชรวมพลังภาครัฐ-เอกชน เพื่อโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร” เปิดตัวแคมเปญ “กายอุปกรณ์...เชื่อมใจให้ไปต่อ”