สค.จชต. ขอบคุณ 'ตรีนุช' ผลักดันเยียวยาครู เสียชีวิต จากเหตุความไม่สงบชายแดนใต้

20ธ.ค.2564 – ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สค.จชต.) พร้อมกรรมการ สค.จชต. ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย รวม 41 คน ได้เดินทางมาขอบคุณ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ได้ผลักดันการช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 183 ราย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เห็นชอบสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท หักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว และให้จัดสวัสดิการด้านอื่น ๆ ให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับส่วนราชการต่างๆ โดย นาย บุญสม กล่าวว่า ครอบครัวครูและบุคลากรที่เสียชีวิต รอคอยการจ่ายเงินเยียวยานี้มาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี แต่เพิ่งได้รับในสมัยที่ นางสาวตรีนุช เป็น รมว.ศธ. และ ขณะนี้มีครู อีก 11 รายที่ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ กำลังรอรับความช่วยเหลือ

ด้านนางสาวตรีนุช กล่าวว่า นอกจากคณะกรรมการ สค.จชต.มาแสดงความขอบคุณตนแล้ว ทาง สค.จชต.ยังมีข้อเสนอของครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3 ข้อ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย คือ เรื่องที่ 1.ขอให้ ศธ. เร่งประสานการแก้ไขเพิ่มเติมมติ ครม.กับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) กรณีการเยียวยาที่ยังไม่ครอบคลุมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มพิการ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 11 คน ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเสมอภาค เรื่องที่ 2.ขอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ขยายวันที่พ้นระยะเวลาการดำเนินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2566 กรณีข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เลือกขอยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ของหนังสือ ว 10/2554 เพื่อขอใช้สิทธินับระยะเวลาทวีคูณ คือ นับเวลาการพ้นระยะเวลาดำเนินการภายใน 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 3. เป็นเรื่องคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ ซึ่งประธาน สค.จชต.ระบุว่า ที่ผ่านมาคุณภาพการจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในอันดับรั้งท้ายมาโดยตลอด และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่อนุญาตให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Onsite ให้จัดการศึกษาในรูปแบบ Online ยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง ดังนั้น ขอให้ ศธ.ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาให้โรงเรียนที่ครู เด็ก และผู้ปกครอง ฉีดวัคซีนครบตามที่สาธารณสุขกำหนดแล้ว สามารถสอนในรูปแบบ Onsite ที่สถานศึกษาได้ และส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมการศึกษาขึ้นมาให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ดีขึ้นมากแล้ว และผู้ปกครองก็อยากให้ลูก หลาน มาเรียนที่โรงเรียน ซึ่งตนได้รับข้อเสนอ ทั้ง 3 เรื่องมาพิจารณา ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เสียสละ ยืนหยัดจัดการเรียนการสอนในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งตนจะเร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการเยียวยาครูที่ทุพพลภาพ จากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ โดยเร็วที่สุด และจะสนับสนุนการทำงานของครู

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช. เปิดกรุสมบัติ 'อิทธิพล-ตรีนุช' กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยนายอิทธิพล แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 81,162,381 บาท มีหนี้สินทั้งหมด 543,016 บาท

ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65

โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา

พระเอกมา ‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผม ขู่ ลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ

‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผมกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรง ตั้งคำถามว่า ‘ทรงผม’ เกี่ยวอย่างไรกับการเรียนรู้ ชูนโยบายก้าวไกล กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ